วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2562


 

โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา

วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2561

พระปลัดเสกสรร อตฺตทโม

แสดงธรรมเรื่อง ภัยคุกคามในยุคพุทธกาล

ห้อง SPD 4 สภาธรรมกายสากลฯ

...................................................................

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยิ่งด้วยพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ขอเจริญพรนักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาผู้มีบุญทุกท่านนะ สาธุ!

วันนี้เป็นโอกาสดีอีกวันหนึ่ง ที่พระอาจารย์ก็ได้มีโอกาส มาพบกับนักเรียนโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาทั่วโลกในวันนี้ สำหรับวันนี้ก็เป็นเรื่องที่ ใกล้วันเข้าพรรษาแล้วก่อนวันเข้าพรรษาก็เป็นวันอาสาฬหบูชาซึ่งเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราแสดงปฐมเทศนาแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร เพราะฉะนั้นพรุ่งนี้เชิญชวนทุกคนนะ  มาร่วมกันเจริญพุทธมนต์บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  มาฉลองชัยที่หน้าเจดีย์นะ  

ระหว่างรอจะฉลองพรุ่งนี้วันนี้เราก็สวดกัน เยอะๆ สวดกันบ่อยๆ สวดให้ใจเข้ากลางใจผ่องใสกันไปเลย แล้วก็เข้าพรรษาเราก็จำพรรษาในศูนย์กลางกาย พระก็จะจำพรรษาที่วัด ญาติโยมก็อย่าลืมจำพรรษาในศูนย์กลางกาย ให้จิตใจของเราผ่องใส ในเมื่อใกล้เข้าพระเข้าพรรษา พระภิกษุสงฆ์ ในช่วงเข้าพรรษานั้นพระภิกษุสงฆ์ ก็จะได้มีโอกาสมาอยู่รวมกัน มาอยู่พร้อมพร้อมๆกันได้ศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แล้วก็หมู่คณะเราตามภารกิจที่หลวงพ่อท่านฝากไว้ตั้งหลายปีมาแล้วทำกันไว้ตั้งแต่ปี 2553 ที่บวชพระแสนรูปครั้งแรก  ก็มีบวชพระเข้าพรรษากันในพื้นที่ทุกๆปีที่  ผ่านมาแต่ละพื้นที่ก็มีพระอาจารย์ ทั้งพรรษาน้อยๆบ้างก็เป็นพระอาจารย์ที่บวชมานานแล้ว เป็นพระอาจารย์ดูแลด้วยว่าหลวงพี่บางรูปที่อยู่ตามศูนย์ส่งเสริมศีลธรรม จังหวัดต่างๆที่ต้องมีหน้าที่ ในการดูแลหมู่คณะต่างๆก็จะได้มีโอกาสศึกษาหัวข้อธรรมในวันนี้

วันนี้ก็ไม่ใช่เป็นลักษณะหัวข้อธรรม แต่เอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคพุทธกาล พูดถึงภัยพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้น    ในยุคนั้นก็มีภัยพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ว่าเมื่อเรารู้ว่าภัยพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในยุคพุทธกาลนั้นมีอะไรบ้าง เราศึกษาให้รู้ ถ้าเรามาจับเหตุการณ์ดูรู้ว่ามีอะไรบ้าง แล้วเราจะได้มาเทียบดู   ถ้ามีในยุคพุทธกาล  ..ยุคนี้ ก็ได้มีต้นแบบ ดูว่า พระพุทธองค์ทรงแก้ปัญหา ในเรื่องราวต่างๆเหล่านั้นอย่างไร

สำหรับวันนี้ก็เอาว่าเอาแค่เรื่อง ของภัยที่เกิดขึ้นในยุคพุทธกาลก่อน  ครั้ง

ถัดไปก็เป็นภัยภายนอก คือวางแผนไว้ 4 ครั้ง ไปภายนอกเสร็จ  แล้วก็วิธีแก้ ภายใน..ภายนอกในยุคพุทธกาลพระพุทธองค์ทำอย่างไร  

ในยุคพุทธกาลพระพุทธศาสนาแผ่ขยายกว้างออกไป 16 แคว้น เขาเรียกว่ามหาชนบท 16 แคว้น จริงๆแล้วมีแคว้นเล็กอีก 7 แคว้นเล็ก ถ้าเห็นเราในจอก็จะมีวงกลมสีแดงอยู่วงหนึ่ง ที่แคว้นมคธ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราตรัสรู้ที่อยู่ในพื้นที่ในแคว้นของมคธ เมื่อตรัสรู้ตรงนั้นแล้ว แสดงปฐมเทศนาที่เมืองพาราณสีแคว้นกาสี ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่เราสวดกันตรงนั้น พระพุทธองค์ก็มาโปรดอุรุเวกัสสปะ ...หลังจากนั้นเจอ ..ยสกุลบุตร  หลังจากนั้นโปรดภัททวัคคีย์กุมาร 30  …แล้วก็มาอุรุเวกัสสปะ แล้วกลับมาที่แคว้นมคธและได้วัดแห่งแรกวัดเวฬุวันพระเจ้าพิมพิสารถวาย  แล้วก็ไปที่แคว้นโกศล   เมืองสาวัตถี  ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐี ถวายวัดเชตวันไว้เป็นส่วนกลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

 พื้นที่สีเหลืองเหล่านี้ก็เป็นชนบท 16 แคว้นใหญ่ 7 แคว้นเล็ก ในพุทธกิจ 45 พรรษาเราเห็นในแผนที่จริงๆพื้นที่มันกว้าง ถ้าแผนที่ปัจจุบันก็คือประเทศอินเดีย แต่ว่าในยุคพุทธกาล 16 แคว้น มีพื้นที่ที่คาบเกี่ยวกับเนปาล วงกลมสีแดงๆ ข้างบนขาวๆก็เนปาล ด้านซ้ายมือของภาพจะมีปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ชนบท 16 แคว้นดูพื้นที่ใหญ่นะ

เมื่อพื้นที่ใหญ่อย่างนี้เวลานาน 45 ปีพระพุทธศาสนาขยายไปในพื้นที่กว้างและเวลาก็นานถึง 45 ปีก็แน่นอนว่าก็ต้องเจอปัญหา พระพุทธองค์ไม่ได้อยู่ดูแลได้ตลอด ในยุคพุทธกาล พระพุทธศาสนาก็ประสบภัยทั้งภายใน และภัยภายนอก แต่ในวันนี้ก็คุยเรื่องภัยภายในก่อน

- ภัยภายในคือ ภัยที่เกิดจากพุทธบริษัท 4  ภัยที่เกิดจากตัวโครงสร้างในพระพุทธศาสนาเอง ซึ่งจริงๆแล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสว่า ภัยอื่นทำลายพระพุทธศาสนาไม่ได้ แต่สิ่งที่จะทำลายพระพุทธศาสนาได้ก็คือ พุทธบริษัท 4 ด้วยกันเอง

- ภัยภายนอกคือ ภัยที่เกิดจากปัจจัยอื่นนอกเหนือจากพุทธบริษัท 4 

พุทธบริษัท 4 มีอะไรบ้างก็มี ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในยุคพุทธกาลก็มีครบทั้งภิกษุภิกษุณี ปัจจุบันภิกษุณีในสายของเถรวาทก็ไม่มี สายมหายานยังมีอยู่ เราก็มักจะพูดกันว่าภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกา

ในวันนี้เราก็มาศึกษาลองฟังดูเป็นกรณีศึกษา แล้วภัยที่เกิดขึ้นในยุคพุทธกาลในเรื่องของภัยภายในมีอะไรบ้างที่เราพอจะพบ และมีโอกาสก็จะค่อยๆไปภัยภายนอก

ภัยภายในยุคพุทธกาล จะมีปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ 3 ประการ อยู่ 3 หมวดที่เราพบ

1. ปัญหาจากการปกครอง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องปกครองพระภิกษุ ไม่ว่าพระมหาเถระ พระอสีติมหาสาวกที่ช่วยดูแลหมู่คณะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องเจอต้องปกครองปัญหาเหล่านี้  ถ้าปกครองยาก  ปกครองไม่ดีก็จะเป็นภัยภายใน

2. ปัญหาการฝึกสมาชิกในหมู่คณะ (การให้การศึกษา อบรม นำฝึกปฏิบัติ) 

3. ปัญหาความขัดแย้งหรือแตกความสามัคคีในหมู่คณะ 

อันนี้ 3 หมวดหลักๆที่ศึกษาแล้วพอจะพบในตัวภายในของพุทธศาสนา ทีนี้เราก็ลองมาดูว่า ในปัญหาของการปกครองนั้นแล้วเจออยู่ 4 หมวด

- ปัญหาจากการปกครอง คือภิกษุ 4 กลุ่ม เวลาปกครองพระ พระที่ไม่ค่อยเรียบร้อย  พระพุทธองค์ก็เรียกว่าพระชุดเหล่านี้ว่าเป็นพระต้นบัญญัติของพระวินัย  ต้นบัญญัติก็คือเวลาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยแต่ละข้อ ที่พระองค์จะตรัสห้ามภิกษุ  ไม่ให้ทำแต่ละเรื่อง ต้องเกิดเหตุขึ้นมาก่อน ถ้ามาในพระปาฏิโมกข์ก็มี 227 ข้อที่สวดทบทวน ทุกกึ่งเดือน นอกพระปาฏิโมกข์ก็มีอีกหลายข้อ

ที่นี้ก่อนจะมาบัญญัติแต่ละข้อนั้นก็ต้องเกิดเหตุ  คนที่ทำเหตุคนแรกเรียกว่าเป็นต้นบัญญัติ  คือ คนที่ทำผิดคนแรกคนนั้นคือต้นบัญญัติ พระพุทธองค์ก็จะประชุมสงฆ์ แล้วก็บอกว่าตำหนิ ชี้โทษ การกระทำแบบนี้ไม่เป็นผลดี  แล้วก็บัญญัติพระวินัย  บัญญัติสิกขาบทอย่างนี้เขาเรียกว่าต้นบัญญัติ

ซึ่งภิกษุที่เป็นต้นบัญญัติก็จะอยู่ใน 4 หมวด  4 กลุ่มนี้คือ

1. ชุดที่บวชมานานแต่ไม่ฝึกตน 

2. บวชแล้วไม่มีใครสอน

3. บวชแล้วไม่มีประมาณ

4. บวชแล้วเป็นปริยัติงูพิษ

- บวชมานานแต่ไม่ฝึกตน  ตัวอย่างของกลุ่มภิกษุฉัพพัคคีย์ เป็นต้นบัญญัติ เราคุ้นปัญจวัคคีย์ ปัญจะแปลว่า 5  เพราะสวดธรรมจักร พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาให้ ชุดปัญจวัคคีย์มีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นต้น  ชุดฉัพพัคคีย์โยมไม่ค่อยคุ้น ฉัพพัคคีย์แปลว่า มีพวก 6 บวชมานาน แต่ไม่ฝึกตนเป็นต้นบัญญัติพระวินัยที่มาในพระปาฏิโมกข์ ถึง 128 ข้อจาก 227 ข้อ ชุดนี้ เป็นต้นบัญญัติ 128 ข้อเกินครึ่ง 

 ชุดนี้เป็นต้นบัญญัติ128 ข้อ เพราะว่า ไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมตนเองก็จะมีโอกาสพลาดทำในสิ่งที่ไม่รู้ว่าไม่ควรทำเกิดขึ้น

ภิกษุฉัพพัคคีย์  แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

1.ไปที่เมืองสาวัตถี  แคว้นโกศล

2.ไปเมืองราชคฤห์  เมืองหลวงแคว้นมคธ

3.ไปที่เมืองกิฏาคีรีชนบท

กลุ่มฉัพพัคคีย์ กลุ่มนี้เขาก็คิดยังไงถึงไปกัน 3 ที่ คือก่อนบวช กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ทำกสิกรรม ปลูกพืชผักอะไรต่างๆ แล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ  ทำแล้วก็เหนื่อย รู้สึกว่าปลูกพืชเหนื่อย บวชดีกว่า คิดอย่างนี้ตอนบวช

แต่ว่าก็มาเป็นลูกศิษย์สายพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร  พอบวชเสร็จแล้วก็ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ 5 ปีเรียนในพระคัมภีร์เขียนบอกทรงจำ มาติกาได้ รงจำข้อธรรมต่างๆได้ดี จำได้อย่างหนึ่ง  ฝึกได้อีกอย่างหนึ่ง คือรู้อย่างหนึ่ง ปฏิบัติได้อย่างหนึ่ง เหมือนเรารู้ไหม ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 อยู่ตรงไหน ต้องกลางท้องเหนือสะดือ 2 นิ้วมือ ถ้าจะเข้าถึงใจต้องหยุดนิ่ง หยุดนิ่งเฉยๆเท่านั้น  แต่เราก็ฝึกกันมาแล้ว  ก็หลวงพ่อก็ให้กำลังใจอยู่มาตลอด ว่าแม้มืดตื้อมืดมิดก็มีสิทธิ์เข้าถึงธรรม รู้อย่างหนึ่งแต่ทำได้อย่างหนึ่ง

 ชุดฉัพพัคคีย์ นี้ก็รู้วินัย รู้ธรรม รู้คำสอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้ทรงจำได้แต่ไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้รับการปฏิบัติ  เขาคิดอย่างนี้ว่า  อยู่ที่ชนบทอยู่นอกเมือง  บางครั้งก็มีของเยอะ คือโยมถวายของ บางครั้งก็มีเยอะบางครั้งก็ไม่ค่อยมี อดบ้างอิ่มบ้าง อย่ากระนั้นเลยเราพึงแบ่งกันไปตามเมืองที่มีคนมากดีกว่า ก็ไปสาวัตถีที่มีคนเยอะ ราชคฤห์มีคนเยอะ กิฏาคีรีชนบทฝนตกต้องดีผลผลิตออกได้ 3 ฤดู แล้วก็ส่งไป เขาก็คุยกันแล้วนะว่าส่งไปแล้วให้ไปตั้งสำนักใกล้เมืองเหล่านี้   แล้วก็ให้ปลูกขนุน ปลูกมะม่วง ปลูกมะพร้าว แล้วทำการแจกจ่าย ชาวบ้านรอบๆนั้น แล้วชาวบ้านรอบๆสำนักในเมืองเหล่านั้นก็จะได้มาเป็นบริวารของเรา เราก็จะได้เอาคนมาบวช ลูกของเขาจะได้มาบวชกับเรา

พอเราเห็นอย่างนี้ปุ๊บถ้าฟังผ่านๆ มันดีเหมือนกันนะ ไปปลูกต้นไม้แล้วทำการแจกจ่าย  จริงๆผิดหน้าที่ไหม พระภิกษุต้องแจกจ่ายธรรม เป็นต้นแบบในการฝึกฝนอบรมตนเอง แต่ชุดฉัพพัคคีย์ก็แจกจ่ายผลไม้ ก็ได้เป็นที่รักคนก็มาบวชเยอะลูกศิษย์ก็เยอะมีลูกศิษย์กลุ่มละ 500 รูป 3 กลุ่ม รวมเป็น 1500 รูป  

แล้วท่านทำอะไรผิดในวินัย ในร้อย 128 ข้อนี้คือเป็นข้อเล็กๆน้อยๆไม่ได้เป็นอาบัติหนักอะไร เพียงแต่ว่าทำบ่อยๆ เป็นต้นบัญญัติด้วย แต่ท่านดีอย่างหนึ่ง ถ้าอะไรที่พระพุทธองค์ห้ามแล้วท่านจะไม่ทำ จะไปทำเรื่องอื่น ถ้ายังไม่ห้ามจะทำ มีสัจจะดี  ถ้าห้ามแล้วจะไม่ทำ  พอพระพุทธองค์ถามว่าทำจริงไหมก็ยอมรับ จริงพระเจ้าคะ ตั้งร้อย 128 ข้อ

กลุ่มฉัพพัคคีย์นี้ก็มีครั้งหนึ่ง ภิกษุจีวรหาย ภิกษุโดนขโมยจีวร จีวรภิกษุรูปที่จีวรหายก็ไป  ขอจีวรของชาวบ้าน  พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตไว้  ถ้าหายขอจีวรได้  แต่ถ้าหายหมด 3 ผืน ขอเพียง 1 ผืนเพื่อให้มีปกปิดร่างกาย คนที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ผู้ปวารณา จะขอก็ต้องขอเอาเฉพาะที่ใช้ปิดบังตัวเองไปก่อน

ทีนี้ภิกษุฉัพพัคคีย์นี้ก็รู้ว่าภิกษุรูปนี้จีวรหาย ก็ไปบอกภิกษุรูปนี้ว่า ทำไมท่านไม่ไปขอจีวรเพื่อประโยชน์ของท่านล่ะ  ท่านจีวรหาย ภิกษุรูปนี้ก็บอกว่าข้าพเจ้าได้จีวรมาแล้ว ขอแล้วได้แล้ว  ภิกษุฉัพพัคคีย์ทำอย่างไร  ก็บอกว่าถ้างั้นเดี๋ยวข้าพเจ้าจะไปขอในนามท่านก็แล้วกัน คือไปขอเพื่อประโยชน์ของท่านแล้วกัน ท่านทำจีวรหายขอได้

ภิกษุฉัพพัคคีย์ก็ไปบอก ภิกษุท่านนั้นทำจีวรหายเราขอจีวรท่านเพื่อภิกษุรูปนั้นนะ เมื่อคนรู้ว่าพระจีวรหายก็ถวายผ้า แล้วไปหาอีกคนหนึ่งไปขอหลายๆคน คนเขารู้ว่าภิกษุจีวรหายก็จึงให้จีวรให้ผ้ามาเยอะ พอคราวหลังคนที่เขาให้ก็เจอกัน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าสมณะเชื้อสายศากยบุตร ทำไมเป็นเช่นนี้เล่า เป็นผู้มักมาก ทำไมขอจีวรเราแล้วไปขอคนอื่นอีก ก็มีหลายข้อลูกศิษย์ มีลูกศิษย์ 1500 รูป

ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จไปที่กรุงเวสาลีอยู่แคว้นวัชชี ไปที่กรุงเวสาลีแล้วก็เสด็จกลับมาที่กรุงสาวัตถี ก็คือแคว้นโกศล ศิษย์ของภิกษุฉัพพัคคีย์ล่วงหน้ามาก่อน มาจองที่ไว้ก่อน แต่ชุดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวก มาพร้อมพระพุทธเจ้ายังมาไม่ถึง ลูกศิษย์ของพระฉัพพัคคีย์นี้ไปจองที่ไว้ก่อน แล้วบอกว่าตรงนี้ เป็นที่ของอุปัชฌาย์ฉัน เป็นที่ของอาจารย์ฉันจองหมดเรียบร้อยพรรคพวกตัวเองมีที่หลับที่นอนเรียบร้อย

คราวนี้พระสารีบุตรมาถึงช้า ท่านเป็นอัครสาวกเบื้องขวาเป็นเลิศทางด้านมีปัญญามาก แล้วเป็นธรรมเสนาบดีพระพุทธองค์ทรงยกย่องว่า รองจากพระพุทธองค์แล้วนั่งถัดจากเราคือพระสารีบุตร ท่านมาช้าเพราะปกติพระสารีบุตรถ้าไปไหนถ้าเดินทาง พระสารีบุตรมักอยู่ข้างหลัง คอยดูแลภาพรวมของหมู่คณะ ใครตกใครหล่น มักจะดูคอยนวดเท้าผู้ที่เจ็บคอยทายาให้ของหล่นเก็บท่านอยู่ข้างหลัง ท่านไม่นำหน้าเพราะข้างหน้ามีพระพุทธเจ้าท่านจะมาถึงช้า พอจะเข้าที่พัก วิหารต่างๆลูกศิษย์ฉัพพัคคีย์จองหมดแล้ว พระสารีบุตรเป็นธรรมเสนาบดี พระพุทธเจ้าทรงยกย่องเป็นธรรมเสนาบดีชาวบ้านนี้ให้เกียรติยกย่องให้ความเคารพ ถ้าเป็นเราเราจะทำอย่างไร ถ้าเป็นเราก็อาจจะว่าจะบอกว่าเราสารีบุตรนะขยับให้เราหน่อยนะถ้าเป็นเราก็อาจจะทำอย่างนั้นนะ แต่ดูนะพระสารีบุตรทำอย่างไร

พระสารีบุตรนั่งโคนต้นไม้ ที่เต็มหมดแล้วก็ไปเข้ากรรมฐานสมาบัติโคนต้นไม้ตลอดคืน จนถึงรุ่งเช้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกมาตอนเช้า ทำเสียงกระแอม พระสารีบุตรก็กระแอมรับ แล้วบอกว่าสารีบุตรเองพระเจ้าค่ะ พระพุทธองค์ถามว่า สารีบุตรทำไมเธอมานั่งอยู่ตรงนั้น

พอหลวงพี่อ่านรายละเอียดตรง นี้ น้ำตาแทบไหล  ...ซึ้ง พระสารีบุตรทำไมท่านสุดยอดเลยคุณธรรมท่าน คือเป็นองค์ที่นั่งรองจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่มีที่พัก ท่านไปนั่งรอใต้โคนต้นไม้ ไม่ได้บอกเลยว่าที่นอนอยู่ข้างในเพิ่งบวชก็มี  ท่านไม่ไปไล่เขาเลย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงถามเหตุการณ์เหล่านั้นกับพระสารีบุตรว่าไม่มีที่พัก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงประชุมสงฆ์ว่า บัญญัติสิกขาถวายอาสนะตามลำดับพรรษา พอเรื่องนี้เกิดขึ้นจึงเป็นต้นบัญญัติว่าต่อมาการถวายอาสนะที่นั่งอะไรต่างๆเหล่านี้ให้ถวายตามลำดับพรรษา

ตอนแรกพระพุทธองค์ก็ถามพระภิกษุว่าจะให้การให้อาสนะ การให้ที่หลับที่นอนอะไรต่างๆ เหล่านี้ควรจะถวายตามอะไร ภิกษุบางกลุ่มบอกว่าให้ถวายตามชาติตระกูล คนที่บวชจากตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ได้ก่อน วรรณะที่ต่ำกว่าก็ได้ทีหลัง

อีกชุดบอกว่า มีทรัพย์มากได้ก่อน ชุดที่ดีขึ้นมาหน่อยก็บอกว่าถวายตามลำดับว่าทรงได้ฌานได้อภิญญาหรือบรรลุธรรมแต่ละขั้นนี่ถวายตามคุณธรรม

สุดท้ายพระพุทธองค์บอกว่าไม่ใช่ต้องถวายตามพรรษา ท่านให้ยึดว่าใครบวชก่อนควรเคารพและให้อาสนะก่อน พระพุทธองค์บอกว่า

ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตการกราบไหว้การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศตามลำดับพรรษา

 ก็คือถ้ามีของดีมีดีมาก็ต้องถวาย ผู้ที่บวชก่อนใครมาถึงถวายต้องถวายผู้ที่บวชก่อน

มีเรื่องเดียวที่ไม่ต้องยึดตามลำดับพรรษา คือเรื่องของการเข้าห้องน้ำ เรื่องจริงไม่ได้พูดเล่น พระพุทธองค์ตรัสไว้นะ คือมีภิกษุจะเข้าห้องน้ำเสร็จท่านก็ไม่รู้ว่าเข้าห้องน้ำต้องเข้าตามลำดับพรรษาไหม เพราะทุกอย่างตามลำดับพรรษาหมด ที่นั่งและที่ฉันนั่งเรียงตามพรรษาหมด เข้าห้องน้ำคงต้องตามพรรษามั้ง ก็ไปรอเข้ากำลังจะเข้าองค์บวชก่อนเรามาเข้าไปก่อน องค์ที่บวชก่อนออกมาแล้วนึกว่าจะได้เข้า  คนที่บวชก่อนมาอีกก็เข้าไปก่อนอีก อั้นจนกระทั่งเป็นลม

เรื่องถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็บอกว่าภิกษุการเข้าห้องน้ำให้เข้าตามลำดับ การที่ใครมาถึงก่อนก็เข้าก่อน มีเรื่องเดียวที่ไม่ต้องทำตามลำดับพรรษาเพราะเรื่องนี้เป็นทุกข์ประจำสรีระจะไปรอไม่ได้   ไปอ่านนะพระไตรปิฎกสนุกนะ จะเห็นมีหลายเรื่องเลยพระพุทธองค์ก็ตรัสว่า

 อนึ่งภิกษุทั้งหลายภิกษุไม่พึงกีดกันเสนาสนะของสงฆ์ตามลำดับพรรษา ภิกษุรูปใดกีดกันต้องอาบัติทุกกฏ

อาจารย์เป็นต้นบัญญัติ 128 ข้อ ลูกศิษย์อีก 1500 รูป  ก็ทำอาบัติ เล็กเอาบัติน้อย มากันที่ให้อาจารย์เหมือนเรากำลังจะไปนั่งพอเอาย่ามวาง เอากลดวาง อาจารย์ตรงนั้นเป็นที่ของอาจารย์ผมแล้วท่านให้ผมมาจองไว้ก่อน อาจารย์ตรงนี้ก็ที่ของอาจารย์ผม ไม่มีที่เลย  พระพุทธองค์บอกทำอย่างนี้ไม่ได้ต้องถวายอาสนะให้ผู้ที่พรรษามากกว่า เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ

แต่ว่ามีความปรากฏว่า สุดท้ายพระฉัพพัคคีย์ก็ไปพลาดทำอาบัติปราชิก ข้อขโมยของ ไปขโมยห่อผ้า จึงทำให้ขาดจากความเป็นพระ หลังจากทำวีรกรรมไว้เยอะทำอาบัติเล็กๆน้อยๆ สุดท้ายก็ไปพลาดทำอาบัติใหญ่

ตรงนี้ก็อยากจะบอก ถ้ามีพระแบบนี้เยอะๆ ก็ปกครองยาก มีลูกศิษย์ตั้ง 1500 นี่แค่ชุดเดียวนะ ชุดฉัพพัคคีย์มี 6 คนมาบวชก็ปวดหัวแล้วนะ 6 คนนี้ยังมีลูกศิษย์อีกชุดละ 500 เป็น 1500 รูป  500รูปนี่วัดใหญ่นะ พระอาจารย์ไปทำที่ชัยนาททำมา 7 ปีแล้วถ้ายังไม่ถึง 100 รูปเลย นี่เก่งมากนะฉัพพัคคีย์นี่ ไปแต่ละที่ไปสร้าง 3 ที่ไปสร้างวัด 3 ที่ มีพระที่ละ500 เก่งนะ และถ้ามีแบบนี้ก็ปวดหัวเหมือนกัน นี่คือให้เห็นอย่างหนึ่งปัญหาของการที่จะปกครองพระก็คือ ชุดที่ไม่ค่อยรักการฝึกตัวเอง ก็จะมีเรื่องเล็กๆน้อยๆเหมือนกับบางเรื่องที่เราไม่รู้ว่ามันไม่ควรแล้วไปทำ

พระวินัยนี่ โยมอย่าไปคิดว่า ศีลพระ ใครมีศีลมากกว่าจะได้บุญมากกว่า คือศีลมันคือตัวบ่งบอกความผิดปกติของพระที่เกิดขึ้นในยุคพุทธกาล คือปกติพระเขาไม่ทำกันใน 227 ข้อที่มาในพระปาฏิโมกข์ ปกติพระทั่วไปเขารู้ว่าแบบนี้ทำไม่ได้พระพุทธองค์ตรัสธรรม วินัยต่างๆตรงนั้นไว้ และอาการแบบนี้ทำแล้วมันขัดกับสิ่งที่พระพุทธองค์สอน

แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นข้อๆ องค์อื่นเขารู้หมดมีองค์นี้ไม่รู้ว่าทำไม่ได้ พอทำปุ๊บพระพุทธองค์ต้องบัญญัติต้องบอกให้ชัดเจนแล้ว ลำดับ 1,2,3,4    ปัจจุบันนี้ถ้าพระพุทธองค์ยังอยู่คิดว่าจะบัญญัติพระวินัยเพิ่มไปเรื่อยๆนะ อย่างเช่นอาจจะมีภิกษุใดเดินบิณฑบาตในตลาดแล้วใช้โทรศัพท์มือถือ กดไลน์ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฎมันจะมีเรื่องที่ควรไม่ควร

 เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้วจึงไม่ได้บัญญัติพระวินัยเพิ่ม ภิกษุที่สำรวมและรู้ควรไม่ควรท่านก็จะรู้ ภิกษุที่ไม่รู้ก็ไม่รู้ เพราะฝึกตัวมาน้อยก็ไม่รู้ว่าควรไม่ควร เป็นเหตุให้หมู่คณะเสื่อมเสีย เป็นหมวดหนึ่งของงานปกครองเหมือนกัน

- บวชแล้วไม่มีใครสอน ปัญหาคือชุดที่บวชแล้วไม่มีใครสอน มีมาตั้งแต่ยุคพุทธกาลแล้ว 

1.ตั้งใจบวชด้วยศรัทธาแต่อุปัชฌาย์อาจารย์มีภารกิจมากหรืออุปัชฌาย์อาจารย์ไม่รู้ธรรม ไม่รู้วินัย มีอยู่ 2 อย่างในข้อ 1 คือผู้บวชตั้งใจบวชด้วยศรัทธาแต่พระอุปัชฌาย์ท่านมีภารกิจเยอะ งานเยอะภารกิจมากจึงไม่มีเวลามาดูแลลูกศิษย์ ไม่มีเวลามาดูสัทธิวิหาริก หรืออันเตวาสิก สัทธิวิหาริกก็คือคนที่มาบวชอุปัชฌาย์บวชให้ อันเตวาสิกก็คือลูกศิษย์ที่มาถือนิสัยอาจารย์ ถ้าไม่อยู่กับอุปัชฌาย์ก็จะอยู่กับอาจารย์ที่ต้องคอยดูแลคอยสอน แต่พออยู่แล้วอาจารย์ไม่ได้สอน พระชุดที่ไม่มีคนสอนอุปัชฌาย์ไม่ว่างก็ไม่รู้ธรรม เมื่อไม่รู้ธรรมก็เกิดปัญหาการปกครอง

2. อุปัชฌาย์อาจารย์ หลีกไปที่อื่น หรือสึก หรือไปเข้ากับนักบวชศาสนาอื่น ก่อนศิษย์พ้นการถือนิสัย  คือในช่วงพรรษา 1-5 พระพุทธองค์กำหนดไว้ว่าภิกษุบวชใหม่จะต้องถือนิสัยของอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ ถ้าอยู่กับอุปัชฌาย์ก็ถือนิสัยอุปัชฌาย์ ถ้าไม่อยู่กับอุปัชฌาย์คือไปอยู่วัดอื่นต้องถือนิสัยของอาจารย์ อาจารย์จึงต้องมีพรรษา 10 ขึ้นไป  เราเองบวชได้ 3 พรรษาแต่อุปัชฌาย์สึกเสียแล้วก็เลยไม่มีอุปัชฌาย์ ไม่มีคนสอนลักษณะอย่างนี้ ไปอยู่ที่วัดนั้นอารามนั้นอยู่ในเขตพื้นที่นั้นไป ไปฝากตัวกับอาจารย์ไว้ให้อาจารย์อบรมสั่งสอนเพราะไม่ได้เจอกับพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าอยู่ไกล อยู่ไปอยู่ไปอาจารย์เราไปเข้ากับเดียรถีย์ไปเป็นนักบวชเปลือยซะแล้ว  ทำยังไงเราก็เคว้งจะตามอาจารย์ไป  เราก็อยากจะเป็นพระอยู่  ก็จะมีชุดแบบนี้ ถ้าไม่ได้รับการศึกษานิสัยก็ยังฝึกไม่ได้ ของพระเรียกว่านิสัยมุตตกะ ของพระก็จะอยู่ในนักธรรมชั้นโท พรรษา 5 จริงๆพรรษา 1  ถึงพรรษา 5 พระพุทธองค์ไม่ให้สอนใคร ให้ฝึกตัวเองไปไหนต้องมีพี่เลี้ยงคอยดูแลคอยควบคุมพระธรรมทายาทที่บวชปีนี้อย่าเพิ่งรีบไปไหนนะ ต้องอยู่ในความดูแลของพระอาจารย์พระพี่เลี้ยง เพราะว่าเราเพิ่งบวช

พรรษา 1-5 เหมือนเด็กก้าวซ้ายก้าวขวาจะผิดพลาด ในพระธรรมวินัยอาจจะเดินไปแล้วกิเลสมันเพิ่มกิเลสไม่ลดจะได้มีคนแนะนำอย่างนี้นะ

ถ้า 5-10 พรรษาเขาเรียกเป็นมัชฌิมภูมิ ให้เริ่มเป็นพระพี่เลี้ยงช่วยดูแลภิกษุใหม่ที่ตามมาทีหลัง แต่จริงๆแล้วพระพุทธองค์บอกว่าห้ามรับลูกศิษย์ห้ามรับเณรอุปัฏฐากต่างๆ เพราะยังเป็นอาจารย์ไม่ได้ยังให้นิสัยไม่ได้ นิสัยยังไม่ดีพอ ต้องฝึกเป็น10 ปีเขาเรียกเป็นเถระภูมิ จึงจะรับลูกศิษย์ได้เป็นอุปัชฌาย์ได้ตามวินัยเป็นอุปัชฌาย์ได้ แต่กฎมหาเถรสมาคมปัจจุบันนี้ต้องพรรษา 20 เป็นเจ้าคณะตำบลพรรษา 20  ตามพระธรรมวินัยก็ 10 พรรษา บวชให้เณรได้

แต่ว่าในภูมิของพระเถระที่จริงแล้วมันมีข้อหนึ่งคือต้องบรรลุฌานต้องสอนการปฏิบัติธรรมได้อันนี้ต้องยอมรับเลย พระอาจารย์ก็ยังไม่ได้บรรลุเลยยัง ปีนี้ก็เข้าพรรษา 16 แล้ว สาธุ  แต่ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองยังพร่องอยู่ ยังต้องขวนขวายต้องทำตรงนั้น  ถ้าเป็นยุคพุทธกาลพระองค์ก็คงจะไล่บอกท่านเสกสรร ไม่ต้องมานั่งเทศน์ใน GBN  โน้นไปอยู่โคนไม้โน้น ไปนั่งทำให้บรรลุฌานก่อน แต่เราก็มุ่งในวัตรปฏิบัติมาก่อน ก็ได้มีแนวทางในการอบรมพระให้ฝึกใจให้ผ่องใสขึ้นไปเรื่อยๆ

3. บวชมาแล้วมีศรัทธาปัญญาน้อย ว่ายากสอนยาก ใครเตือนไม่ค่อยฟัง ชอบทำตามใจตัวเอง เหมือนครั้งก่อนบวช จึงไม่มีใครอยากสอน คือพอบวชแล้วศรัทธาที่จะปฏิบัติตนตามพระพุทธองค์บอกจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานมันน้อย แล้วก็ปัญญาที่จะรู้ธรรมตามและอยากจะฝึกตนเองสอนตนเองได้น้อย พอคนอื่นเตือนก็หงุดหงิด ไม่ค่อยอยากจะทำตามที่เขาบอกเขาเตือน ครูบาอาจารย์บอกก็ยุ่ง เรื่องมาก รำคาญ หลวงพ่อบอกก็โอวุ่นวายจริงๆ เตือนว่าอยากสอนยาก ในปัจจุบันก็มี อันนี้ก็มีตั้งแต่ยุคพุทธกาล คือพอบวชมันจะมีนิสัยเขาเรียก สมณสัญญา สัญญาในความเป็นพระ พอบวชแล้วต้องฝึกเพิ่มพูนสมณสัญญา และลดฆราวาสสัญญา

ฆราวาสสัญญาคือ สัญญาในความเป็นฆราวาส อะไรที่เราเคยทำตอนเป็นโยมก็พยายามละนิสัยแบบโยมเพื่อมาเพิ่มพูนนิสัยแบบพระ

แต่ภิกษุกลุ่มนี้ก็คือไม่ค่อยอยากฝึกนิสัยแบบพระ เคยชินอะไรตอนเป็นโยมก็อยากจะทำนิสัยแบบนั้นเพียงแต่เข้ามาบวชในธรรมในวินัย ถ้าเจอชุดนี้ก็ปวดหัวเหมือนกัน

ตัวอย่างในพระไตรปิฎกตัวอย่างในยุคพุทธกาลก็เช่น พระอุทายี เป็นต้นบัญญัติ 12 ข้อ แต่เป็นข้อหนักๆ เป็นข้ออาบัติสังฆาทิเสส ถ้าหนักสุดคือปาราชิก ขาดจากความเป็นพระ รองลงมาคืออาบัติสังฆาทิเสส สังฆาทิเสสจะพ้นจากอาบัติ ปลงอาบัติไม่ได้

ต้องประพฤติวุฏฐานวิธี คือขบวนการออกจากอาบัติ ต้องอยู่ปริวาสกรรมอยู่มานัตและให้สงฆ์รับเข้าหมู่ ใช้สงฆ์ 20 รูป พิจารณาดูว่ากลับมาเป็นพระได้ไหม เหมือนโทษจองจำโทษทางโลกจองจำ โทษปราชิกคือประหาร สังฆาทิเสสคือโทษจองจำ ขังคุก

พระอุทายีก็ทำไว้หลายข้อ  เป็นข้อที่เกี่ยวกับชู้สาว 10 ข้อ วางตัวไม่เหมาะสม  1 ข้อ เบียดเบียนชีวิตสัตว์ 1 ข้อ พระอุทายีเดิมเป็นคนเจ้าชู้มาก่อน เดิมเป็นนายขมังธนู ในปัจจุบันก็คือเหมือนมือปืน ยุคก่อนไม่มีปืนเวลาจะฆ่ากันก็จะใช้ธนูยิง  ฝีมือดี  มีนิสัยชอบยิงอีกา แล้วเอามาเสียบประจาน เรียกว่าเป็นมือวางอันดับ 1  ยิงอีกาแล้วเอามาเสียบประจานไว้  มีฝีมือในการก่อสร้างและเป็นนักเลงหญิงมีวาจาดี  แซวเก่ง เกี้ยวพาราสีเก่ง  ก่อนบวช

แต่พอบวชแล้วพระอุทายีก็มาสร้างวัด สร้างวิหารสร้างวัดหลังหนึ่ง แล้วออกแบบดีชาวบ้าน  อยากจะมาชมอยากจะมาดูบ้างวางเป็นค่ายกลเลยเปิดทางนี้ แล้วจะมาทางนี้ พอชาวบ้านเขามาชมอาคารหลังนี้วิหารหลังนี้  สามีภรรยาเขาก็จะจูงมือกันมา พระอุทายีก็นำชม พอนำชมเสร็จ สามีเดินพระอุทายีก็ชี้ให้ดูทางโน้น ทางนี้ พระอุทายีก็แกล้งไปเปิดประตูฝั่งโน้นเหมือนค่ายกลออกมา ลวนลามภรรยาเขา อย่างนี้มาลวนลามแฟนเขานี่ในยุคพุทธกาล   ไม่ใช่อยู่ปัจจุบันมันมีมานานแล้ว

 ภิกษุณีบวชใหม่ ภิกษุณีอรหันต์ก็มีโดนลวนลามแบบนี้ ยังไม่ทิ้งนิสัยเจ้าชู้ พอสามีภรรยากลับบ้าน  สามีก็ชมพระอุทายีรูปนี้เก่งจริง ๆ สร้างวิหารสวยดีมากเลย ภรรยาตอบว่าจะไปดีอะไร .. อะไรที่ท่านทำกับเรา พระอุทายีทำหมด  ภรรยาบอกสามีอย่างนี้  สามีฟังแล้ว ก็ไม่ทำอะไร เพราะพระอุทายีเป็นนักเลง เป็นนายขมังธนูเก่า ต่อยตีเก่ง ใครมาโวยวายก็สู้ไม่ได้ พระอุทายีเป็นอย่างนี้ บวชแล้วไม่มีใครสอน ไม่มีใครกล้าสอน เพราะว่าถนัดที่จะทำนิสัยเก่าๆอันนี้ก็พบในยุคพุทธกาล

4. บวชด้วยศรัทธา แต่มีปัญญาน้อย เมื่อไม่ได้อยู่กับพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ก็ไม่มีโยนิโสมนสิการ เพียงพอ

โยนิโสมนสิการคือ การพิจารณาไตร่ตรองอย่างแยบคาย ว่าดีไม่ดีควรไม่ควรพิจารณาไม่พอ แต่จริงๆ ตัวเองมีศรัทธาไม่ได้ดื้อ   อยากจะดี   เช่นพระสุทิน เป็นต้นอาบัติ ปราชิกข้อที่ 1 คือข้อเสพเมถุน  องค์นี้จริง ๆ ท่านตั้งใจฝึกตัว  บวชแล้วสมาทานธุดงควัตร 4 ข้อ ตั้งใจฝึก

แต่ที่พลาดเพราะว่าช่วงนั้นแคว้นวัชชีเกิดทุพภิกขภัยเกิดความลำบาก พระหาอาหารลำบาก ก็เลยหวังดี คิดว่าจะกลับบ้านไปบิณฑบาตไปขออาหารที่บ้านมาเลี้ยงพระ แต่ไม่ได้ปรึกษาครูบาอาจารย์  ไปที่บ้าน  แม่รบเร้าอยากให้ลาสิกขา  เพราะตอนออกบวชแม่ไม่อยากให้บวช พระสุทินประท้วงด้วยการ อดข้าว เพื่อนๆจะมาบอกแม่ให้สุทินบวชอย่างน้อยก็ยังมีชีวิตอยู่ ไม่มีปัญญาที่จะให้เหตุให้ผลแม่ก็ต้องอดข้าวประท้วง  ถ้าไปดูภูมิหลังแม่จะเลี้ยงด้วยการตามใจมาจากตระกูลที่พ่อแม่ตามใจ

พอบวชแล้วกลับไปที่บ้าน ตอนนั้นบวชมาแล้ว 8 พรรษา แม่บอกว่าไม่สึกก็ได้ แต่ว่า ถ้าพ่อเจ้าตายทรัพย์จะโดนยึดหมด  จะเก็บเข้าคลังหลวงหมด ไม่อยากให้ทรัพย์โดนยึดเข้าคลังหลวง  เจ้าให้ลูกชายแม่สักคนได้ไหม ให้ไปร่วมหลับนอนกับภรรยาเก่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังไม่ได้ห้าม นึกในใจแม่ก็รบเร้าเหลือเกิน เรารำคาญ  ถ้าเกิดว่า ให้ลูกไว้สักคนแม่ก็คงไม่ตื้อแล้ว  จะได้ตัดรำคาญ และได้ไปหลับนอนกับภรรยาเก่า เป็นปฐมปาราชิกขาดจากความเป็นพระ แต่ต้นบัญญัติไม่ปาราชิกพระพุทธองค์ไม่ปรับอาบัติ พระสุทินก็ยังเป็นพระต่อ

พระสุทินเสพเมถุน เทวดาก็ลือลั่นเหมือนตอนสวดธรรมจักร สมณะสายศากยบุตรมีข้อบกพร่องเสพเมถุน โพนทะนากันไป เรื่องไปถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็สอบถาม ตำหนิโมฆบุรุษ  ธรรมที่เราตรัสไว้มากมายเป็นอเนกปริยาย เป็นไปด้วยการคลายกำหนัดทำไมเธอไม่ทำ  เธอไปทำสิ่งนี้ได้อย่างไร แล้วจึงบัญญัติต้นว่า ภิกษุใดเสพเมถุน ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระ

 พุทธองค์ทรงบอกไปแล้ว ห้ามตอนที่สวดธรรมจักร แสดงปฐมเทศนา กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค หีโน คัมโม โปถุชชะนิโก การเพลิดเพลินยินดีอยู่ในกามสุขเป็นของต่ำเป็นของชาวบ้านบรรพชิตไม่พึงทำ พูดแค่นี้เขารู้กันทั่วแล้ว พระยุคนั้นรู้กันทั่วแล้ว ทำไม่ได้ไปเสพเมถุนไม่ได้

กามสุขคือ การเพลิดเพลินยินดีอยู่ ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่น่าพอใจ จริงๆโดยหลักแล้วอะไรที่เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลินยินดีอยู่ในกามสุข ความยินดีอยู่ในรูปที่น่าพอใจ เสียงที่น่าพอใจ รส กลิ่นที่น่าพอใจ ธรรมารมณ์ที่น่าพอใจต่างๆเหล่านี้

แม้ไม่มีบัญญัติที่พระองค์ตรัสๆไว้ ในยุคสมัยนี้บรรพชิตก็ไม่พึงทำ ถ้ายุคพุทธกาลเขาก็จะรู้กัน ถ้าพระพุทธองค์อยู่ก็จะมีอาบัติเพิ่มขึ้นบัญญัติพระวินัยเพิ่มอีก แต่พระพุทธองค์ให้กรอบไว้แล้วให้กรอบไว้ในบทสวดธรรมจักกัปปวัตตนสูตร

คนอื่นเขารู้ แต่พระสุทินนึกไม่ออก ก็ท่านยังไม่ได้ห้ามนะ ถ้าเป็นพวกเราคงนึกออก  เพราะเราสวดกันหลายจบแล้ว   ท่านก็คือไม่ได้ฝึกพิจารณาไตร่ตรอง ก็คือโยนิโสมนสิการไม่พอ ชุดนี้ชุดรักดี แต่ว่าพอไม่มีคนสอน ก็ขาดการไตร่ตรองก็ไปพลาดทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ อันนี้ต้องอยู่กับพระอาจารย์ตลอด  ถ้าอย่างนี้ 4 ชุดนี้ก็ดูแลยาก  

- บวชแล้วไม่รู้ประมาณ ชุดที่มาบวชแล้วไม่รู้ประมาณเช่น ชุดที่บวชแล้วรักสบาย เกียจคร้านการฝึกตน ไม่ให้ทำภาวนา อยากสบาย จึงไม่ประมาณให้สมกับความเป็นสมณะ

 เช่นพระธนิยะเป็นต้น เป็นต้นอาบัติปาราชิกด้วยเหตุขโมยไม้หลวง พระธนิยะ ท่านสร้างกุฏิ ด้วยหญ้าคา ปกติภิกษุยุคพุทธกาล ช่วงที่ไม่เข้าพรรษา เขาจะเข้าป่าไปอยู่ในป่า พระธนิยะท่านพอออกพรรษาแล้วท่านไม่เข้าป่าไม่ไปบำเพ็ญเพียรกับเพื่อนท่านก็ยังอยู่  แต่กุฏิที่ท่านสร้างที่มุงด้วยหญ้าคา ชาวบ้านก็นึกว่า พระคงไปแล้วก็เลยไปเอาหญ้าคาที่หลังคาของท่านไปใช้เพราะนึกว่าพระไปแล้ว  

พระธนิยะท่านมีฝีมือเรื่อง ของการปั้นดินทำกุฏิดินสวย พอโดนหยิบหลังคาไปก็มีความคิดว่า เราน่าจะสร้างกุฏิด้วยไม้จะได้ถาวร  ไปที่คลังเก็บไม้หลวง ซึ่งเขาจะเอาไว้ซ่อมกำแพงเมือง   ซ่อมพระราชวัง กำแพงถ้าชำรุดถ้าไม่มีไม้มาซ่อม ข้าศึกบุกก็พัง  แต่ตอนนั้นคลังไม้หลวงมีไม้มาก บอกกับคนคุมคลังไม้ว่า พระราชาอนุญาตให้เราแล้ว พระเจ้าพิมพิสารพระราชายกให้นักบวชแล้วบอกคนที่เฝ้าคลังไม้  ยุคนั้นนักบวชมีเครดิตเยอะ สมณะเชื้อสายศากยบุตรเขาคงไม่โกหก ท่านพูดอย่างนี้ น่าจะจริงนะ ท่านคงไม่โกหก ก็เลยเปิดคลังหลวงให้เอาไม้ไปเกือบหมด  

ภายหลัง วัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ใหญ่มาตรวจคลังไม้  ไม้หาย จึงไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร ว่าไม้ในคลังหายจะเอาคนเฝ้าคลังไม้ไปประหาร พระธนิยะรู้ จึงไปหาที่ลานตัดสินความ บอกว่าเราเอามาเอง และบอกว่าพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาถวายให้เราแล้ว

พระเจ้าพิมพิสาร ถามว่าโยมไปถวายพระคุณเจ้าตอนไหน พระธนิยะบอกว่าตอนที่พระเจ้าพิมพิสาร ท่านขึ้นครองราชย์ท่านตรัสว่า น้ำ ข้าวและไม้ต่างๆในเมืองของเรา ในแผ่นดินของเรา เราถวายให้กับเหล่าสมณะ   พระเจ้าพิมพิสารต่อว่า  นี่ถ้าท่านไม่ใช่พระ  เราจะประหารเลย  เพราะที่เราพูดหมายถึงไม้ที่ไม่มีเจ้าของ  ไม้นี้เขาตัดไว้ซ่อมเมืองมันมีเจ้าของ พระธนิยะก่อนท่านบวชท่านเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย  เป็นนักกฎหมาย

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่  จริงๆเป็นกฎหมายใหญ่ ถ้าเป็นไม้หลวงไม้ที่เขาเอาไว้ซ่อมเมืองใครขโมยไปถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และกลายเป็นว่านักบวชจะกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงจะเป็นอย่างนั้น

จนเป็นเรื่องที่พระเจ้าพิมพิสารท่านเป็นพระโสดาบัน ถ้าไม่ใช่พระเจ้าพิมพิสารนักบวชอาจถูกไล่ออกจากเมือง  แต่พระราชาในยุคนั้นเป็นพระเจ้าพิมพิสาร ท่านบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ท่านก็แก้ปัญหาออกหน้า อำมาตย์ ข้าราชบริพารไม่ได้นับถือศาสนาพุทธทั้งหมด มีศาสนาพราหมณ์นับถือศาสนาอื่น มีการโต้แย้ง

 พระเจ้าพิมพิสารจึงไปเสด็จไปหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือออกหน้าไปด้วยตนเอง พระพุทธองค์ก็ระงับเหตุอย่างรวดเร็ว เรียกอำมาตย์คนเดิม คนที่เคยเป็นอำมาตย์เก่าเรียกมาสอบถามว่า โทษที่พระเจ้าพิมพิสารเอาความว่า ถ้าขโมยของ เจ้าเป็นขโมย เจ้าเป็นคนไม่ดีต้องลงโทษขับไล่ลงโทษจองจำ ลงโทษประหาร เขาลงโทษเท่าไหร่  อำมาตย์เดิมตอบว่าของที่มีมูลค่า 5 มาสก  พระพุทธองค์จึงตรัสว่าถ้าใครขโมยของเกินราคา 5 มาสกต้องอาบัติปาราชิก ก็รีบบัญญัติวินัยเป็นการแก้ปัญหา

แต่พระธนิยะ พอพระพุทธองค์บัญญัติพระวินัยแล้ว ท่านกลับตัวกลับใจไม่สร้างกุฏิไปอยู่ในวัดวาอารามร่วมกับเขา แล้วก็ไปใช้กุฏิกลางไปใช้วิหารส่วนรวมเป็นที่พักและตั้งใจฝึกฝนปฏิบัติตนจนสุดท้ายเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง แก้ไขได้

4. บวชแล้วเป็นปริยัติงูพิษ ที่ยกตัวอย่างมา 4 ข้อนี้ไม่ได้มีเฉพาะองค์ที่พูดให้ฟังแต่ยกตัวอย่างเป็นหมวดๆมันมีเยอะเพราะเราจะเห็นสภาพในยุคพุทธกาลเลยว่าในยุคพุทธกาลไม่ได้มีแต่พระอรหันต์ที่เรียบร้อย ไม่ใช่ปกครองง่าย คือเหาะได้กันหมดไม่ใช่ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาหมดไม่ใช่ เราเจอแบบนี้มีมาเยอะ

ชุดที่ 4 คือชุดที่บวชแล้วเป็นปริยัติงูพิษ คือพวกที่เรียนแล้วไม่ฝึกตัว เอาธรรม เอาวินัยที่เรียนมาเถียงเขา กลุ่มภิกษุที่เรียนปริยัติเจนจบแต่ไม่ปฏิบัติหลงผิดคิดว่าตนรู้ทั่วถึงธรรมเท่าหรือยิ่งกว่าพระพุทธองค์แล้ว

 เช่น พระอริฏฐะ เป็นต้นกำเนิดคำว่าปริยัติงูพิษ  มาจากพระรูปนี้ ชุดที่พอเรียนแล้วจำเก่งจำได้หมดธรรมของพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นปัจจุบันก็จำพระไตรปิฎกได้ทั้ง 3  ปิฎก คิดว่าตัวเองเข้าใจหมด พอเข้าใจหมดแต่ไม่ปฏิบัติ เลยไปเข้าใจว่าธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีแค่นี้แหละ ผลแห่งการปฏิบัตินั้นมันไม่มี ใช้จินตมยปัญญาพิจารณา คิดเอาว่ามันอย่างนั้นอย่างนี้จนสุดท้ายก็ว่าตัวเองเรียนหมดแล้วคำสอนของพระพุทธเจ้า เรียนหมดแล้วก็จริงเรื่องคำสอน

 แต่ปฏิบัติยังไม่ได้ยังไม่รู้เห็น ท่านเถียงถึงขนาดว่าการเสพเมถุนไม่มีโทษ มีความเห็นแบบนี้ ส่วนใหญ่ภิกษุชุดแบบนี้พระพุทธองค์ก็จะแก้ด้วยการบันลือสีหนาท

คำว่าบันลือสีหนาทคือประกาศคุณของพระพุทธองค์ ว่าพระตถาคตมีคุณมากรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ปัญญาญาณ   คือชุดนี้ไม่ได้นั่งสมาธิ รู้แต่ปริยัติไม่เข้าถึงการปฏิบัติ ก็เลยคิดว่าตัวเองรู้ถึงธรรมของพระองค์หมดแล้ว แต่ว่าจริงๆไม่รู้ว่าสภาพของฌานเป็นอย่างไร สภาพของการบรรลุธรรมความเป็น สภาพของการหมดกิเลสแต่ละขั้นเป็นอย่างไร ต่างๆเหล่านี้

 สุดท้ายพระองค์ก็ทำอุกเขปนียกรรม คือขับออกชั่วคราว ขับออกจากความเป็นภิกษุชั่วคราวประกาศไปทั่ว ถ้าสำนึกผิดก็กลับมาเป็นพระ

แต่สุดท้ายพระพระอริฏฐะ  ก็ไม่อยู่ก็ได้ ไม่เป็นแล้วพระเรียนจบแล้ว ปริยัติรู้แล้วธรรมของสมณโคดมไม่มีอะไรแล้วรู้หมดแล้ว ท่องพระไตรปิฏกได้หมดแล้ว ทรงจำพระวจนะได้หมดแล้วจำคำสอนได้หมด ไม่เป็นพระแล้วแต่ยังเหาะไม่ได้

 ทั้งหมดนี้คือปัญหาหมวดที่ 1  หมวดการปกครอง เจอพระ 4 ชุดนี้บวชมานานแต่ไม่ฝึกตน บวชแล้วไม่มีใครสอน บวชแล้วไม่รู้ประมาณ บวชแล้วเป็นปริยัติงูพิษ แบบเราเจอในพระไตรปิฎก ในปัจจุบันเราก็เจอ  พระพุทธองค์เจอมาแล้วและแก้ไขยาก

แต่ก็มีวิธีแก้ไขนะ แต่วันนี้ยังไม่คุย จากชุดที่ 1 ก่อนปัญหาสภาพในยุคพุทธกาล พอพระพุทธศาสนาเดินทางมานานแล้ว

-  ปัญหาการฝึกสมาชิกในหมู่คณะ (การให้การศึกษา อบรม นำฝึกปฏิบัติ)

1. ขาดพระเถระที่ใส่ใจภิกษุใหม่ผู้ตั้งใจฝึกฝนตน คือไม่มีพระเถระที่ใส่ใจคนที่บวชใหม่ คนบวชใหม่มาแล้วไม่มีพระคอยดูแลให้ พระเถระจะชี้นำบอกกล่าว

2. ขาดพระเถระที่เป็นผู้นำในการสอนภาวนา ไม่มีใครสอนภาวนาก็รู้แต่พระปริยัติการผลของการปฏิบัติไม่รู้ เพราะฉะนั้นเป้าหมายปลายทางที่จะไปสู่มรรคผลนิพพานตามที่ได้เป็นวาจาว่า สัพพทุกข  นิสสรณ นิพพาน สัจฉิกรณัตถาย อิมัง กาสาวัง คเหตวา ว่าข้าพเจ้าถึงแล้วผ้าซึ่งบุคคลย้อมแล้วด้วยน้ำฝาดขอออกบวชเพื่อสละกองทุกข์ และทำพระนิพพานให้แจ้งอุปัชฌาย์ช่วยนำเข้าหมู่รับรองข้าพเจ้าหน่อย อย่างนี้  ก็ไม่เกิดผลเพราะว่าท่านไม่มีพระเถระเป็นผู้นำในการสอนทำภาวนา 

3. พุทธบริษัท 4 ขาดคารวธรรม

ยกตัวอย่างจากตติยโอวาทะสูตร  พุทธองค์ตรัสกับพระมหากัสสปะ ที่ถือธุดงควัตรและเปิดเลิศทางด้านธุดงควัตร และเป็นองค์ประธานในการทำสังคายนาครั้งที่ 1 ท่านบอกว่าในบัดนี้ ภิกษุทั้งหลายที่เป็นเถระ ไม่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร และไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการอยู่เป็นวัตร เป็นผู้ไม่เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร  และไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร  เป็นผู้ไม่นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และไม่สรรเสริญคุณแห่งการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ไม่ทรงไตรจีวรเป็นวัตร และไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการทรงไตรจีวรเป็นวัตร ไม่เป็นผู้มักน้อยและไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความมักน้อยไม่เป็นผู้สันโดษและไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษไม่เป็นผู้สงัดจากหมู่ และไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ปรารภความเพียร และไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร

 คือตอนนี้พระเถระไม่เป็นไม่ทำดังที่กล่าวมาทั้งหมดคือมันขาด ไม่มีพระเถระมีพระอสีติต่างๆพระเถระรุ่นเก่าๆ ตอนนี้พระที่มาในภายหลังก็เริ่มจะไม่ค่อยปฏิบัติตรงต่อหนทางพระนิพพานแล้ว

อันนี้ก็เป็นสภาพปัญหา แต่ถ้ามีพระที่เป็นหลักให้ได้เยอะๆช่วยเคี่ยวเข็ญช่วยดูแลก็จะปัญหาน้อยปฏิบัติวัตรต่างๆที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้ที่เป็นไปเพื่อการที่จะขจัดขัดเกลากิเลส คือถ้าฝึกเองต้องมีบุญในตัวเยอะถ้าไม่มีครูบาอาจารย์

พระอาจารย์ตอนพรรษา 1 จำได้เลยไม่อยากตื่นตี 4 ครึ่งนอนในลานกัลปพฤกษ์ มีเต็นท์ นอนกลด ตี 4 ครึ่งต้องตื่น เพราะเปิดเสียงหลวงพ่อทัตตชีโว  “ตื่นกันได้นะลูกนะมันถึงเวลาทำความเพียรของพวกเราแล้ว”  ทุกวัน เราก็ไม่อยากจะตื่นแต่ทำไมต้องตื่น  พี่เลี้ยงเรียกตั้งแถวเพื่อนเขาไปหมดแล้วกว่าจะได้นิสัยตี 4 ครึ่งแล้วตื่น ถ้าองค์เดียวเสร็จแน่ ถ้าเข้ากุฏิองค์เดียวไม่ตื่น  เดี๋ยวรอไปฉันเช้าเลยก็แล้วกัน  สำคัญนะต้องมีพระเถระช่วยเคี่ยวเข็ญ

- ขาดพระเถระที่เป็นผู้นำในการสอนภาวนา ยุคนั้นก็เจอพระสูตรที่ ว่าด้วยบริษัทที่ไม่มี อัครบุคคล อยู่ในอังคุตตรนิกาย  พระสูตรที่ 3  มีข้อความว่า
ก็บริษัทที่ไม่มีอัครบุคคลเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัทใดในธรรมวินัยนี้ มีพวกภิกษุเถระเป็นคนมักมาก เป็นคนย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการก้าวไปสู่ทางต่ำ ทอดทิ้งธุระในปวิเวกไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ประชุมชนภายหลังต่างถือเอา ภิกษุเถระเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง ถึงประชุมชนนั้นก็เป็นผู้มักมาก  ย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการก้าวไปสู่ทางต่ำ
 คือถ้าขาดอัครบุคคล คือบุคคลผู้ยิ่ง ผู้เป็นต้นแบบที่ดี ถ้าขาดผู้ที่เป็นต้นแบบที่ดีนำในการปฏิบัติธรรมเคี่ยวเข็ญให้ปฏิบัติธรรม และสรรเสริญผู้ที่ปฏิบัติธรรมผู้ที่มักน้อยสันโดษอยู่ถ้าเราได้อ่านพระสูตรเต็มจะเห็นว่าบุคคลแบบนี้เขาเรียกว่าอัครบุคคล บุคคลผู้ยิ่งอยู่ ถึงจะเคี่ยวเข็ญให้ลูกศิษย์ทำตาม ถ้าในหมู่คณะที่ไม่มีอัครบุคคลพระพุทธองค์ก็สรรเสริญในผู้มีลาภมากต่างๆเหล่านี้ พอมีลาภมาก มีลาภสักการะมาก มาถึงก็จะลุกรับ ต้อนรับต่างๆซึ่งพระองค์บอกว่าไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องก็คือต้องลุกรับผู้ที่มีคุณธรรม  ท่านว่าอย่างนั้นในพระสูตร คือไม่มีคนสอนขาดคนสอนการปฏิบัติธรรม 

-  พุทธบริษัท 4  ขาดคารวธรรม ข้อนี้สำคัญ ที่พูดมาทั้งหมดนี้เฉพาะพระนะ พระกับภิกษุณีข้อนี้เป็นปัญหาที่พูดถึงพุทธบริษัททั้ง 4 เลย ขาดคารวธรรม  คือความเคารพ เป็นข้อความจากพระสูตร สัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร คือพระสัจธรรมมันหายไปได้อย่างไร ธรรมะของพระพุทธเจ้ามันเลือนหายไปได้อย่างไร

พระพุทธองค์ตรัสว่า ปฐวีธาตุ(ธาตุดิน) สูญทำสัทธรรมให้เสื่อมไปไม่ได้ อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ(ธาตุไฟ) วาโยธาตุ(ธาตุลม) ก็ทำสัทธรรมให้เสื่อมสูญไปไม่ได้ ที่แท้โมฆะบุรุษในโลกนี้ ต่างหากเกิดขึ้นมาย่อมทำให้สัทธรรมเสื่อมสูญไป เปรียบเหมือน เรือจะอัปปางก็เพราะต้นหนเท่านั้นสัทธรรมย่อมไม่เสื่อมสูญไปด้วยประการฉะนี้ เหตุฝ่ายต่ำ 5 ประการนี้ เป็นไปเพื่อความเลือนหายเพื่อความเสื่อมสูญไปแห่งสัจธรรม เหตุฝ่ายต่ำ

เหตุฝ่ายต่ำ 5 ประการ อะไรบ้างคือ

1. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา

2. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม

3. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์

คือพุทธบริษัท ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดาพระธรรม พระสงฆ์ และสิกขา

สิกขา คือการศึกษานะ ในศีล สมาธิ ปัญญา แล้วก็ไม่เคารพในสมาธิ เหตุฝ่ายต่ำ 5 ประการนี้เป็นไปเพื่อความเลือนหายเพื่อความเสื่อมสูญไปแห่งพระสัจธรรม

การขาดคารวธรรมะ 5 อย่างนี้พระสัทธรรมหาย เราต้องดูว่าเราเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แค่ไหน เคารพในการศึกษาในไตรสิกขา เคารพในสมาธิไหม เขาถึงต้องมีการทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ขอขมาพระรัตนตรัยต่างๆเหล่านี้มีความสำคัญ ถ้าบริษัท 4 เคารพ อย่างอื่นไม่ค่อยห่วงแต่ว่าตอนนี้ไม่ค่อยเคารพในสงฆ์กัน ว่ากันเยอะเหลือเกินเดี๋ยวพระสัทธรรมจะหายนะพุทธบริษัททั้งหลาย อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายตำหนิพระสงฆ์เยอะนะ

จริงๆมีในทิศ 6 ถ้าจะปฏิบัติต่อพระสงฆ์มีหน้าที่อุบาสก อุบาสิกา ต้องตั้งจิตด้วยความเมตตาทำอะไรก็ทำด้วยความเมตตา นะ

- ปัญหาความขัดแย้งหรือแตกความสามัคคีในหมู่คณะ

1. ศึกษา ฝึกฝน อบรม มาไม่เท่ากัน ยุคพุทธกาลพระสงฆ์ก็ทะเลาะกัน ที่เราคุ้นว่าภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ปัญหาความขัดแย้งก็คือมีศีลไม่เสมอกัน ทิฏฐิเสมอกัน

กรณีที่ศึกษาคือภิกษุชาวเมืองโกสัมพี เหตุเกิดขึ้นมา ภิกษุอยู่วัดโฆสิตาราม กรุงโกสัมพีมี 2 คณาจารย์ใหญ่ คือมีความเชี่ยวชาญทางด้านพระวินัย กับอีกองค์หนึ่งเป็นภิกษุที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านธรรม  องค์หนึ่งเป็นพระวินัยธร องค์หนึ่งเป็นพระธรรมกถึก ท่านน่าจะดีทั้ง 2 องค์มีลูกศิษย์ฝั่งละ 500  รูป ไปแสดงธรรมไปสอนต่างๆทำประโยชน์ให้พระพุทธศาสนามากมาย

วันหนึ่งพระธรรมธรเข้าห้องน้ำ เข้าแล้วไม่ได้คว่ำขัน   กลัวลูกน้ำมา  กลัวอะไรมาถ้ามีแมลงอยู่ในขันองค์ต่อไปจะใช้ขัน ถ้าองค์ที่เข้ามาองค์ต่อไปต้องเทน้ำทิ้ง ปาจิตตีย์อาบัติฆ่าสัตว์ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้คว่ำขัน

ทีนี้พระธรรมธรเข้าไปแล้วไม่คว่ำขัน  น้ำเหลืออยู่ก้นขัน เดินออกมา พระวินัยธรเดินเข้าไป  ท่านเห็นแล้วหันมาว่าเลย  ว่าพระธรรมธรท่านเข้าห้องน้ำแล้วไม่คว่ำขันอย่างนี้ต้องอาบัติ พระธรรมธรท่านก็ดี ท่านก็บอกว่าเป็นอาบัติเหรอ ผมไม่ทราบ ถ้าเป็นอาบัติ เดี๋ยวผมขอแสดงอาบัตินะ  พระวินัยธรจึงบอกว่าถ้าท่านไม่ได้ตั้งใจไม่รู้ก็ไม่เป็นอาบัติ พระธรรมธรก็เข้าใจว่าไม่ต้องแสดงอาบัติ พระธรรมธรไปแล้วไม่ได้แสดงอาบัติ

ต่อมาพระวินัยธรก็ไปพูดกับลูกศิษย์ว่า อาจารย์ใหญ่พระธรรมธรที่สอนธรรมะเขาไปทั่ว วินัยคว่ำขันแค่นี้ไม่รู้ คราวหลังลูกศิษย์ของพระวินัยธรก็มาพูดกับลูกศิษย์ฝ่ายพระธรรมธร อาจารย์เธอต้องอาบัติแค่คว่ำขันยังไม่รู้เลย  พระธรรมธรจึงบอกว่าทำไมพระวินัยธรพูดอย่างนั้น ก็ตอนนั้นบอกถ้าอาบัติเราจะแสดงอาบัติ แต่ท่านก็บอกว่าไม่อาบัติ เราก็ไม่แสดงอาบัติ พระวินัยธรเป็นผู้โกหกเป็นผู้กล่าวเท็จ

ลูกศิษย์ทะเลาะกันจึงแตกเป็น 2 ฝั่ง แตกแล้วไม่แตกธรรมดา แตกแล้วเทวดาก็แตกกันด้วย ลูกศิษย์ที่เป็นพระแตกกัน ลูกศิษย์ที่เป็นโยมแตกกัน เทวดาชั้นภุมมเทวา รุกขเทวา เรื่อยขึ้นไปถึง  6 ชั้นไปถึงชั้นพรหมยังแบ่งเป็น 2 ฝั่งว่าเราจะเข้าข้างพระธรรมธรหรือจะเข้าข้างพระวินัยธร

แสดงว่าจริงๆ พระเถระ 2 รูปนี้มีคุณมาก เทวดาตามรักษา จึงเป็นเรื่องเป็นราวทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องมาระงับเหตุเอง แม้มารับเหตุเอง เรื่องนี้ยังไม่ยอม   ยังมาบอกพระพุทธเจ้าเลย สุดท้ายพระพุทธองค์ทรงขวนขวายน้อยในเรื่องนี้เถิด พระเจ้าข้า เรื่องนี้เดี๋ยวข้าพระพุทธเจ้าจะตกลงกันเอง มาบอกมาตัดโทษอะไรต่างๆ มากมายแต่ไม่ยอม

 พระพุทธองค์จึงเสด็จไปอยู่ป่า พรรษานั้นไปจำพรรษาในป่าให้ลิงกับช้างเลี้ยงสุดท้ายภิกษุชาวเมืองสาวัตถีจึงมาตามหา พระอานนท์มา ภิกษุ ชาวเมืองสาวัตถีมาเจอพระพุทธเจ้า และอาราธนากลับสาวัตถี ส่วนภิกษุชาวโกสัมพี โยมไม่เห็นพระพุทธเจ้านานแล้วพระพุทธองค์ไม่อยู่พระภิกษุ 2 กลุ่มนี้ทะเลาะกัน โยมไม่ใส่บาตร ไม่เลี้ยงพระ  นี่คือวิธีของโยมโยมอย่าด่า อย่าไปว่าพระ ถ้าพระทำไม่ดี พระพุทธองค์ทรงให้วิธีแล้ว ก็ไม่ต้องใส่บาตรเท่านั้น

พอไม่ใส่บาตร จึงได้คิดว่าไม่มีปัจจัย 4 แล้วโยมไม่ถวายอะไรต่างๆแล้ว โยมก็ไม่ยอม ถ้าไม่ไปขอขมาพระพุทธเจ้าที่สาวัตถี  อย่างไรก็ไม่ใส่บาตร พระจึงพากันไปหาพระพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถี พอถึงวัดพระเชตวันแล้ว พระพุทธองค์ให้พระภิกษุชาวโกสัมพี

ตอนแรกนะพระราชายังไม่ให้เข้าเมืองนะ ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีจะมาหาพระพุทธองค์ที่วัดเชตวัน ภิกษุชุดนี้ทำความเดือดร้อนให้พระศาสดาอย่าเข้ามาเลย กันไว้ไม่ให้เข้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้จึงบอกว่าให้เข้ามาเถอะ  อย่างไรก็เป็นพระ  ท่านไม่ได้อาบัติอะไรหนักก็ให้เข้ามา พอเข้ามาในวัดเชตวันเมืองสาวัตถีแล้ว พระพุทธองค์ก็จัดไว้เป็นหมวดเลยชุดนั้นชุดเมืองโกสัมพี ไม่ปนกับชุดอื่น

ชาวบ้านมาถามไหนๆภิกษุชุดไหนที่พระพุทธองค์ไปห้ามแล้วไม่ฟัง ก็ชี้ไปที่ชุดเมืองโกสัมพีจนภิกษุเมืองโกสัมพีเกิดความละอาย ก็ขอขมาอะไรต่างๆเหล่านี้ก็เป็นวิธีการ แต่ว่าเห็นเรื่องราวต่างๆเหล่านี้มีอยู่ในยุคพุทธกาลพระทะเลาะกันพระมีความเห็นไม่ตรงกันก็เกิดขึ้นพระพุทธองค์ก็มีวิธีแก้ไขก็เกิดจากศีลไม่เสมอกัน ทิฏฐิไม่เสมอกัน ทะเลาะกันเรื่องอะไร  แม้เป็นผู้ที่ฝึกตัว รู้ธรรมรู้วินัยเหมือนกัน แต่มันนิดเดียวเอง แล้วมันใหญ่เพราะมีลูกศิษย์เยอะมีผู้ถือหางยุ่งหลายเรื่อง ซึ่งจริงๆแล้ว 2 ปัญหานี้ ทิฏฐิไม่เสมอกันศีลไม่เสมอกัน ปัญหาของมันที่เกิดขึ้นคือปัญหาการศึกษาฝึกอบรมมาไม่เท่ากัน รู้ไม่เท่ากันพอรู้ไม่เท่ากันก็ทะเลาะกัน

 2. ขาดการเป็นมิตรแท้ต่อกัน คือเตือนกันด้วยความหวังดี คนที่กล้าเตือนคนด้วยหัวใจมิตรแท้ ยิ่งใหญ่มากเพราะเตือนแล้ว มันยากนะจะโกรธเราไหมเขาจะฟังไหมต้องมีเจตนาดีและเตือนนะ เตือนแล้วต้องมุ่งหวังให้เขามีคุณธรรมที่ดีขึ้นต่างๆดีขึ้น ไม่ใช่เตือนเพราะว่าจับผิดกัน ถ้าเป็นมิตรแท้ที่ดีต่อกันก็คือเตือนแล้ว คนถูกเตือนแล้วเขารู้สึกดีพัฒนาตนได้

เหล่านี้ เป็นภัยภายในที่เกิดในยุคพุทธกาล ถ้าเกิดในยุคนี้ก็หนักนะ ก็ดูแล้วมันน่าจะเกิดนะ แต่พระพุทธองค์มีวิธีจัดการ เราพอจะสืบค้นพอจะเห็นพระพุทธองค์ทำอย่างไร ซึ่ง เดือนหน้าในตารางเทศน์ก็จะมาเล่าปัญหา 3 ปัญหานี้ที่พูดมาทั้งหมดพระพุทธองค์ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ที่เราพบในยุคพุทธกาลนะ

 วันนี้ก็ฝากไว้แค่นี้ ฝากไว้นิดหนึ่งว่าเวลาเราศึกษา เวลาเราเรียนให้เรียนจากคนที่ประสบความสำเร็จเรื่องเหล่านี้ปัญหาที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบัน ถ้ามันมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา คนที่จัดการได้ดีที่สุดคือใคร คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราจะแก้ปัญหาเราก็ต้อง มาดูเรื่องนี้คนที่เขาทำสำเร็จแล้วมีไหม ถ้าในยุคปัจจุบันยังไม่มี ก็ลองไปดูในพระไตรปิฎกในยุคพระพุทธองค์ทำอย่างไร ถ้าจะให้ทำอะไรก็ตามให้ประสบความสำเร็จ ก็ให้ดูจากคนที่ทำสำเร็จแล้ว ถ้าทำยังไม่สำเร็จอย่าไปดู

 ถ้าตอนนี้มีปัญหาอะไรมาเกี่ยวกับการคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เราต้องช่วยกันเปิดพระไตรปิฎกเยอะๆ ค้นเยอะๆช่วยกันดูเยอะๆ ในยุคพุทธกาลทำอย่างไรเราจะได้ช่วยกัน

พรรษานี้ทั้งพระและโยมก็ฝึกฝนอบรมตนเองกันไปทำตามพระวินัยจำพรรษา ณ ศูนย์กลางกายกันนะ วันนี้ก็ขออนุโมทนาบุญทุกท่านเลยนะ

 

 

โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2561   พระครูสังฆรักษ์อน...