วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561


โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา
วันศุกร์ ที่ 6  กรกฎาคม พ.ศ. 2561
พระอโนทัย สุทฺธิพโล
แสดงธรรมเรื่อง ทุกข์ที่ควรละ สุขที่ควรแสวงหา ภาค 3
ห้อง SPD 4 สภาธรรมกาย
**************************

                    ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอเจริญพรนักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาทั่วโลกทุกท่านนะ วันนี้วันศุกร์ อยากมีความสุขต้องมาฟังธรรมกัน  (เพลง...อยากฟังธรรมะ...)

                    วันนี้เสนอเรื่องทุกข์ที่ควรละ สุขที่ควรแสวงหา วันนี้วันศุกร์จะพูดถึงความสุขกัน ความสุขคืออะไร ไปดูในพระไตรปิฎกมา  ความสุขนั้นคืออะไร  ... บทความเก่าปีน่า 2551 หนังสือ Time magazine บอกว่าที่อเมริกาได้มีงานวิจัยพบว่า คนที่มีความสุขมากที่สุดในโลกก็คือ พระในทางพระพุทธศาสนา โดยใช้เครื่องมือทดสอบด้วยการสแกนสมองของพระที่ทำสมาธิ และได้ผลลัพธ์ออกมาว่าเป็นจริง เพราะฉะนั้นเป็นพระนี่ก็มีความสุข  แต่ทำไมพระน้อยจังเลย ยังเป็นข้อสงสัยอยู่  ก็ต้องลองมาบวชดูว่า สุขอย่างไร สุขอย่างพระ

                         พระพุทธศาสนาแบ่งความสุขออกเป็น 2 ระดับ -โลกียสุข คือความสุขแบบชาวโลก -โลกุตตระสุข คือความสุขเหนือชาวโลก ทั้ง 2 อย่างมีผลต่างกัน  โลกียสุข คือความสุขแบบชาวโลก ที่มีความอยาก ความปรารถนาที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ เป็นความสุขที่พระพุทธศาสนาสอนแก่คฤหัสถ์  ผู้ครองเรือนปรารถนาความสุข โลกียมีความปรารถนาสุข 4 ประการ โลกียสุข  ที่ชาวโลกต้องการ แตกย่อยไปอีก 4 ประการ  
                    1 .  อัตถิสุข สุขเกิดจากความมีทรัพย์  ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่ามีโชค โภคทรัพย์สมบัติ ที่ได้มาด้วยความลำบาก ด้วยน้ำพักน้ำแรง ด้วยความขยันหมั่นเพียร ในการประกอบสัมมาอาชีพ  เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์  เมื่อเรามีทรัพย์แล้ว  เราจะมีความสุข  
ความสุขประการนี้จะแสวงหาได้ทั่วไป  มีปัญญามากแสวงหาทรัพย์ได้มาก  หลวงปู่เทศน์ไว้ว่า  บุคคลใดมีความรู้ดี  มีปัญญาดี  เวลาได้อะไรจะได้ประณีต สิ่งที่ได้จะประณีตกว่า ในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ได้นะ   เป็นความสุขระดับต้น ต้องมีทรัพย์  ถ้าไม่มี  ก็ลำบากก็หาความสุขลำบาก ตั้งแต่ยุคไหนมาต้องอาศัยโภคทรัพย์สมบัติทั้งนั้นเลย

                      2 . โภคสุข สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์  มีทรัพย์แล้วสะสมเอาไว้ ก็ไม่ใช่ความสุข  มีทรัพย์แล้วอยากให้มีความสุขต้องเอามาจ่าย   ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่าตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มา โดยชอบธรรมนั้น เลี้ยงชีพ บำรุงบิดา มารดา สามี ภรรยา บุตร มิตร และเพื่อบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ พวกเราเอามาทำบุญ   ฝากไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นความสุขยิ่ง  ๆ ขึ้นไปอีก  สุขที่เหนือจากการมีทรัพย์  คือสุขจากการจ่ายทรัพย์

                    3 . อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ เหมือนพุทธพจน์ อินาทานังทุกขังโลกี
ความเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก หนี้อะไรก็ตามแต่ย่อมไม่มีสุข  สุขมากกว่าการมีทรัพย์  และสุขมากกว่าการจ่ายทรัพย์ 

                     4 . อนวัชชสุข สุขจากการประพฤติไม่มีโทษ  สุขจากการความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่าตนประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครติเตียนไม่ได้ทั้งกาย วาจา และใจ  มีความสุขมากกว่าประการที่ 3  ได้ทรัพย์มาก็โดยสุจริต ..  ใช้จ่ายอย่างสุจริต.. บริจาคทานให้อย่างสุจริตใจ ความสุขจากการไม่มีโทษ  ในการประกอบสัมมาอาชีวะ

                       ความสุขของชาวโลก ที่ควรแสวงหา คือความสุขระดับนี้ แม้จัดเป็นโลกียสุข ก็ให้ความสุขได้ เป็นความสุขระดับปุถุชนคนทั่วไปล้วนปรารถนา  สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งชอบธรรม ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำร้ายใคร ทำให้สุขภาพชีวิตดีขึ้น สุขภาพจิตก็ดีขึ้น มีผลเป็นสุขตามแบบชาวโลก

                        สุขโลกุตตรสุข เป็นความสุขที่เหนือกว่าโลกียสุข  ความสุขทางพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 3 ระดับ 1 . สุขที่เกิดจากกามคุณ  2 . สุขที่เกิดจากสมาธิ 3 . สุขที่เกิดจากการหมดกิเลส อุปาทานทั้งหลาย ความสุขอย่างยิ่ง สิ่งเหล่านี้ภิกษุปรารถนาทั้งสิ้น ส่วนคฤหบดีปรารถนาสุขข้อ 1 กับ 2

                         สุขที่เกิดจากกามคุณ -รูป -เสียง -กลิ่น -รส -โผฏฐัพพะ สิ่งเหล่านี้เป็นความสุขอย่างชาวโลก ตาเห็นรูป พอใจในรูป หูได้ฟังเสียง พอใจในเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้รับรส ได้สัมผัส สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากวัตถุสิ่งของภายนอก คือความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุ  ทำให้เรามีความสุขได้ แต่สุขเหล่านี้ไม่จีรังยั่งยืน ไม่เป็นของแท้แน่นอน มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา คือสุขอย่างชาวโลก

                        สิ่งเหล่านี้จะหยุดได้ ความสุขเกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ของแท้แน่นอน แต่ว่าสิ่งเหล่านี้จะให้ ความสุขได้ เมื่อเราพอ   หยุดแรงปรารถนาได้   ก็สุขได้   คือหยุดให้เป็น  แล้วก็พอใจให้ได้ ... ถ้าไม่พอในในรูป เสียง กลิ่น รส ความสุขที่เคยมีจะกลายเป็นความทุกข์ทันทีเลย  ต้องทำความเข้าใจความสุขที่เรามีอยู่ รักษายังไงจะอยู่กับเราได้นาน ๆ ต้องหยุดให้เป็นแล้วก็พอให้ได้ในสิ่งที่เรามีอยู่   

                         สิ่งเหล่านั้นจะให้ผลตอบแทนได้ จะสุขหรือทุกข์ เพิ่มพูนขึ้นยังไง อยู่ที่การสำรวมอินทรีย์ 6 มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะ 6 ที่จะมากระทบใจ  ตา  กระทบรูป  ต้องสำรวมตา ถ้าไม่สำรวมเกิด  ตามีปัญหา ....หู   กระทบเสียง ถ้าไม่สำรวมหู ก็ หูมีปัญหาทันที ...จมูก กระทบกลิ่น สำรวมการได้กลิ่นนั้น   …ลิ้น กระทบกับรสแล้ว ก็สำรวมลิ้น กาย กระทบสัมผัส ก็สำรวมกาย ใจ กระทบธรรมารมณ์ สำรวมใจให้ดี

                         สิ่งเหล่านี้ต้องสำรวม ไปไหนก็ตามก็สำรวม  เพื่อรักษาความสุขที่เรามีอยู่ ณ ปัจจุบันไม่ให้เสื่อม นี่เป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นพระ โยม คฤหัสถ์ทั่วไป อาศัยหลักนี้เช่นกัน เพราะว่าความสุขเกิดจากความพอใจ ยินดีในสิ่งนั้นแล้วความสุขก็จะคงที่กับเรา วันนี้วันศุกร์เลยพูดแต่เรื่องความสุข  อยากให้มาพิจารณากันนะ

                        ความสุขที่จะต้องเข้าใจขึ้นไป ความเข้าใจความจริง 4 ประการ คืออริยสัจ 4   ทุกข์  เข้าใจธรรมชาติว่าทุกข์มีจริง  ....สมุทัย เข้าใจธรรมชาติว่าทุกข์มีที่มาที่ไป คือเหตุของทุกข์   ...นิโรธ เข้าใจธรรมชาติว่าทุกข์สามารถกำจัดได้ พอเข้าใจอย่างนี้กระบวนการจะเกิด ขึ้น    มรรค เข้าใจธรรมชาติว่า ผลที่เกิดจากการกำจัดทุกข์ มีจริง   ทั้ง 4  ประการนี้คืออริยสัจ เป็นจริงแท้แน่นอน เมื่อเข้าใจสิ่งเหล่านี้ หนทางเกิดขึ้นมาจะเป็นกระบวนการ เวลาไปกระทบกับอะไรก็ตามแต่ เกิดเวทนา เกิดสุข เกิดทุกข์ เมื่อพิจารณาขึ้นมา การปล่อยวาง อุเบกขาจะเกิดขึ้น ทางเดินไปหาคำว่าความสุข เกิดขึ้นตั้งแต่เราพิจารณาอริยสัจ 4 ได้ เพราะฉะนั้นการกำจัดทุกข์ อาศัยความเข้าใจถูกอริยสัจ 4 ประการนี้ หนทางดับทุกข์จะเกิดขึ้น

                         ความสุขขั้นแรกอยู่ที่การสละ บริจาค ตั้งแต่ให้ทานก็เป็นความสุขระดับต้น ๆ ...ให้อภัย  ความสุขก็จะเพิ่มขึ้นมาอีก การทำทานทำง่าย เจอขอทาน ให้เงิน 1-2 บาท ก็ได้แล้ว  แต่การให้อภัยทาน  เป็นการให้ยากขึ้นมานิดหนึ่ง ใครมาทำให้โกรธจะให้อภัยเขา อาศัยเวลานาน เพราะฉะนั้นการให้จะยากไปตามลำดับ  แต่ทำให้บุญบารมีเพิ่มขึ้นมาก ไปตามค่าลำดับความยาก
มีมากก็ให้ได้มาก แต่ให้อภัยทำยังไงจะให้ได้  โกรธปุ๊บให้อภัยใช้เวลานาน บางคนผูกโกรธข้ามชาติเลย ล้วนเป็นกฎแห่งกรรมทั้งสิ้น ไม่ให้อภัยก็ผูกอาฆาตกันเป็นปี ต้องมาชดใช้สิ่งที่ทำเอาไว้ ก็เบียดเบียนกันไป เหมือนงูเห่ากับพังพอน เจอกันไม่ได้ ต้องกัดกัน การให้อภัยเป็นสิ่งที่ยาก ต้องฝึกให้อภัยมาก ๆ      

                         การให้ที่ยากกว่า คือการให้ความเมตตา ยากกว่าการให้อภัย พออภัยเสร็จเมตตาจะเกิด ละเอียดเข้าไปอีก  ..พอเมตตาได้ ...ความกรุณาก็จะเกิดขึ้น จะบวกกับความสงสาร อยากช่วยให้เขาพ้นทุกข์ แม้สรรพสัตว์ทั้งหลายตกอยู่ในน้ำ  เกิดจิตกรุณาอยากช่วยให้พ้นจากน้ำ คือกรุณา ....ยิ่งไปกว่านั้นคือมุทิตา สิ่งเหล่านี้ยากไปตามลำดับ  เวลาเห็นคนอื่นได้ดี อยากมุทิตาเขา ทำยากเหมือนกัน โดยส่วนมากจะอิจฉา ทำไมดีกว่า เด่นกว่า  ให้สุดท้ายคือ ให้อุเบกขา คือการให้ตัวเอง ให้ความสุขกับตัวเอง ..ไม่ไปยุ่ง วางเฉย ... อย่าเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง  แม้นั่งสมาธิ คือให้ประโยชน์ตัวเอง  เป็นการให้สูงสุด  ให้ประโยชน์ตัวเอง 

                    การให้ 5 ประการตามลำดับ ให้มากเข้าจะแปรเปลี่ยนเป็นความสุข จากบุคคลธรรมดา ๆ กลายเป็นผู้สวมหัวใจพระโพธิสัตว์ทันที  เหมือนนักเรียนอนุบาลฝันในฝัน  กำลังสวมหัวใจพระโพธิสัตว์ พระบรมโพธิสัตว์จะไม่หวั่นไหว อุปมาเหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบ ที่ไม่หวั่นไหวต่อแรงลม ฉันใดก็ฉันนั้น พระบรมโพธิสัตว์ไม่หวั่นไหวต่อแรงว่าร้าย แรงสั่นสะเทือนจากผู้ปองร้าย จะไม่หวั่นไหว  นี่คือความสุขที่เกิดจากการให้  นี่เป็นสุขทางโลกียทรัพย์ 

                        สุขจากสมาธิ ตั้งแต่ปฐมฌาน  วิตก  วิจารณ์  ปีติ  สุขและวิเวกอยู่ เชื่อว่าทุกท่านประสบอาการนี้มาแล้ว สมาธิอ่อน ๆ จะเกิดขึ้นง่าย นั่งอยู่ดี ๆ เกิดวิเวกขึ้นมา เป็นปฐมฌานขั้นอ่อน ๆ นั่งแล้วตัวเบา เรียกวิตก ตัวลอย คือวิจาร รู้สึกได้สุข มีปีติแล้วก็สุข อยู่ ๆ น้ำตาไหล เรียกปีติ  นี่เป็นสุขจากสมาธิ

                        ทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตภายใน เป็นธรรมะผุดขึ้น ที่เห็นดวงแก้วภายใน ทุติยฌานเริ่ม เข้าไปฌานที่ 2 ลึกเข้าไป เอาว่าให้เห็นภาพว่า มีหลายระดับไปจนกว่าจะถึง ฌานระดับสุดท้ายสัญญาเวทยิตนิโรธ คือฌานขั้นนี้สามารถกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปได้ ส่วนมากติดเนวสัญญา จึงยังไปไม่ถึงขนาดนั้น

                         สิ่งเหล่านี้เมื่อเราปฏิบัติมากเข้า ๆ อย่างน้อยให้ได้แค่ถึงขึ้นทุติยฌาน ให้มีดวงสว่างภายในตลอดต่อเนื่อง ความสุขแช่อิ่มอยู่ตลอด ถือว่าไม่เสียหลายกับการได้เกิดมาสร้างบารมี พบหมู่คณะ ก็จะไปถึงทุกที่ หมู่คณะสร้างบารมีอยู่ในก็ตามแต่ เราเป็นผู้นำอยู่ข้างหน้าในเส้นทางการสร้างบารมี คำว่ารถด่วนขบวนสุดท้าย รถนี้รถเดียว ถือว่าเราเองยังเกาะ แล้วไปกับหมู่คณะได้ ไม่ตกรถ อย่าให้ตกรถ  (เพลง...รถด่วนขบวนสุดท้าย...)

                           ก็สร้างบารมีกันยาวนาน นั่งสมาธิ สวดมนต์ ไปถึงไหนแล้ว ....ทำกันอยู่หรือเปล่า... ขออนุโมทนาทุกท่านนะ.... ฌานเป็นตัวบ่งบอกว่าเราจะไปที่สุดแห่งธรรมได้ อย่างน้อย ปฐมฌานขั้นต้น เราแช่ความสุขนาน สมาธิสำคัญมาก ยึดมีวิตก วิจาร ปีติสุขเกิดทุกเมื่อขณะจิต ที่เราเข้าสมาธิ ขอให้ได้รับความสุขจากสมาธิ เพียงเท่านี้ เชื่อว่าทุกครั้งที่เราปฏิบัติต่อเนื่อง ย่อมมีอานิสงส์มาก  นี่เป็นเรื่องสมาธิ

                      ต่อไปเรื่องโลกุตตระสุข ความสุขอยู่เหนือวิถีชาวโลก หมายถึงความสุขอันเป็นเรื่องภายในจิตใจ ที่เกิดจากการปฏิบัติ ฝึกสติก่อให้เกิดปัญญา ความสุขระดับนี้จะเข้าถึงได้มีหลักอริยมรรค เป็นองค์ประกอบ 8 ประการ ที่เราสวดทุกวันนี้แหละ    จนถึงสัมมาทิฐิ รู้เรื่องอริยสัจ 4 คือทุกข์ ..เหตุแห่งทุกข์ ...รู้เรื่องการดับสิ้นไปแห่งทุกข์ รู้ทางดับสิ้นไปแห่งทุกข์ คือปฏิบัติให้สิ้นไปแห่งทุกข์ 4 ประการนี้ เราต้องทำความเข้าใจถูก เกี่ยวกับเรื่องความจริงของชีวิต
                    
                      สัมมาสังกัปปะ เราต้องทำความเข้าใจว่าดำริชอบอย่างไร...ความดำริชอบมี 3 อย่าง   คือดำริออกจากกาม ....ดำริในอันที่จะไม่พยาบาท .คืออหิงสา  ...ดำริไม่เบียดเบียนเขา ...ดำริออกจากกาม มีวาจาชอบอย่างไร คือไม่โลภ.. ไม่โกรธ.. ไม่รักใคร่ในวัตถุกาม ในความขัดข้องหมองใจ  ดำริในอันที่จะไม่พยาบาท มีคิดปองร้าย ไม่เคียดแค้น กลับมีความเมตตา ปรารถนาดี ต้องการให้เขามีความสุข ดำริไม่เบียดเบียนเขา ไม่ปองร้ายด้วยวิธีการใด ๆ

                    สัมมาวาจามีวาจาชอบ มี 4 ประการ ไม่พูดเท็จ.. ไม่พูดส่อเสียด.. ไม่พูดคำหยาบ.. ไม่พูดเพ้อเจ้อ มีวาจาชอบ เจรจาชอบ ชอบใน 4 อย่างนี้
                     สัมมากัมมันตะ การงานชอบ งานที่ทำแล้วไม่เดือดร้อนตัวเองและผู้อื่นหรือผู้บริโภค ต้องเว้นจากปาณาติบาต ... การนินทา  ไม่นินทาคนอื่น ...การลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์  เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร คือไม่กระทบกับบุคคลอื่น ไม่ว่าหญิงหรือชาย 
                     สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ การเลี้ยงชีพในทางที่ถูกต้อง โดยชอบธรรม อาชีพที่สุจริต งดเว้นจากอาชีพที่ผิดกฎหมายหรือศีลธรรม ไม่ประกอบมิจฉาอาชีวะ 5 ประการ ไม่ค้าขายอาวุธ มนุษย์ สัตว์นำมาเป็นอาหาร น้ำเมา สิ่งเสพติดทุกชนิด เป็นอาชีพไม่บริสุทธิ์ นำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและบุคคลอื่นด้วย

                   สัมมาวายามะ ความพยายามชอบ มี 4 อย่าง  1 . เพียรเพื่อ..ไม่ให้บาป อกุศลเกิดขึ้น 
2 . เพียร..ละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หมดสิ้นไป 3 . เพียรเพื่อ...สร้างกุศลให้เกิดขึ้น และรักษาให้ยิ่งขึ้นไป  4 . เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งมั่นอยู่      การจะเกิดความเพียรได้ต้องอาศัย 4 อย่าง ต้องมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นปัจจัยพื้นฐาน เป็นธรรมะพื้นฐาน

                       สัมมาสติ ความระลึกชอบ คือภาวะทรงจำไว้ ไม่เลือน สติที่เป็นอินทรีย์ พละ สัมมาสติ สติที่เป็นโพชฌงค์ เป็นธรรมะละเอียดลึกขึ้นไปอีก

                       สัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นชอบ เกิดขึ้นจากการฝึกบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ จนตั้งมั่นเป็นนิสัย แม้นั่ง นอน ยืน เดิน ทำให้ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว แม้มีสิ่งรอบข้างมากระทบ  จิตยังตั้งมั่น ดวงแก้ว องค์พระผุด  เพราะฉะนั้นการสวดมนต์ทำให้จิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว แม้อารมณ์ทั้งหลายมากระทบ สมาธิเกิดขึ้น การสวดมนต์ต่อเนื่องจะเกิดขึ้นมาตามลำดับ ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ทำต่อเนื่อง ชีวิตเราจะมีความสุขได้   (เพลง...ตราบวันสิ้นชีวี...)

                          สัมมาสมาธิ มีอานิสงส์ 3 อย่าง ขั้นต้นทำให้เรามีญาณทัสสนะ หยั่งรู้ อันนี้จะละเอียดขึ้นไปอีก ...-ดับกิเลสและดับทุกข์ได้   -หมดทุกข์ สุขหรือทุกข์เกิดจากความยินดีและไม่ยินดี สมัยหนึ่งปริพาชกท่านหนึ่งถาม พระสารีบุตรว่า อะไรคือความสุข อะไรคือความทุกข์ พระสารีบุตรตอบว่า ความไม่ยินดีทำให้เกิดทุกข์ ความยินดีทำให้เกิดสุข ...ความไม่ยินดีทำให้เกิดทุกข์ บุคคลมีความไม่ยินดี แม้เดินอยู่ก็ไม่ประสบความสุข บุคคลมีความยินดีแม้ยืน นั่ง นอนอยู่ แม้อยู่ในบ้าน ในป่า โคนไม้ ในเรือนว่าง ที่แจ้ง ท่ามกลางภิกษุ ก็ย่อมประสบความสุข  

                         ความไม่ยินดีในที่นี้ คือเมื่อไม่ยินดีในสิ่งที่เป็นอยู่ อย่างความเป็นพระ ถ้ายินดีกับเป็นพระความสุขก็หาได้ เมื่อใดไม่ยินดีกับความเป็นพระ ความสุขก็หาไม่ได้ เมื่อเราพอใจยินดีกับสิ่งที่เราทำอยู่ สวดธัมมจักรฯ แต่ละวัน เมื่อเรามีความยินดีที่สวดความสุขก็เกิดขึ้น แต่เมื่อใดก็ตามที่เราไม่ยินดีสวด สวดไปสักแต่ว่าสวดความสุขก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นความสุขเกิดจากความยินดี  การนั่งสมาธิหลวงพ่อบอกว่า นั่งให้สบาย ต้องสบาย อันนี้ก็เหมือนกัน สบายในที่นี้คือความยินดี  ยินดีที่จะสวด ยินดีนั่งสมาธิ  ทำให้เกิดความสุขได้ ……สุขจากการหมดกิเลสตัณหา อุปาทาน เป็นความสุขสูงสุดในพระพุทธศาสนา สุขที่อยู่ในอายตนนิพพานหาได้

                             ความสุขสำคัญมากในทางพระพุทธศาสนา ในการปฏิบัติธรรมถือว่าหาได้ในพระพุทธศาสนานี้ หาได้อย่างไร ...นอกจากการให้ทาน รักษาศีล สุขที่จะยิ่งไปกว่านั้นคือสุขจากสมาธิ สมาธิคืองานทางใจ ทำได้ทุกที่  ..คำหลวงปู่ เพียรเถิดจะเกิดผล ในการบำเพ็ญภาวนา ความเพียรเป็นข้อสำคัญยิ่ง ต้องทำเสมอ ทำเนือง ๆ ทำทุกอิริยาบถ ไม่ว่านั่ง นอน ยืน เดิน และทำเรื่อยไปอย่าหยุด อย่าละ อย่าทอดทิ้ง อย่าท้อแท้ มุ่งรุดหน้าไปเรื่อย ผลจะเกิดวันหนึ่งไม่ต้องสงสัย ผลเกิดอย่างไร ท่านรู้ได้ด้วยตัวของท่านเอง

                             เราไม่สามารถให้คนอื่นรู้ว่าเราปฏิบัติไปถึงไหน วันนี้เรานั่งอยู่เรารู้แล้วว่านั่งสมาธิเราเพียรแล้วถึงขั้นไหน นั่งสมาธิปฏิบัติแล้วรู้ได้เฉพาะตน เป็นของที่ปฏิบัติแล้วรู้ได้จริงเฉพาะตน อย่างน้อยขั้นต้นฌานอ่อน ๆ มีวิตก ปีติสุข เกิดเอกัคคตา จากทุติยฌานไป จิตนิ่งอย่างนั้นต่อเนื่อง มีความสว่าง นิ่ง  มีดวงแก้ว มีความสว่างเกิดขึ้น เป็นฌานอ่อน ๆ

                               ความสุขที่เกิดจากพระพุทธศาสนายกมา มี 3 ระดับ สุขจากโลกีย สุขจากอริย คือโลกุตตรสุข สุขในทางโลกและก็สุขในทางธรรม   สุขทางธรรม แยกไปอีก สุขจากสมาธิลึกลงไปอีก เหนือโลกกุตรสุขคือการหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ อุปาทานทั้งหลาย เป็นความสุขสูงสุด ความสุขทางพระพุทธศาสนามีอย่างนี้ ที่สุดของความสุข คือการหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ

                            โลกปัจจุบันพุทธศาสนาอยู่ในภาวะอ่อนไหวมาก อย่าไปอ่อนไหวตาม เชื่อมั่นในครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงพ่อ  คุณยายอาจารย์  นำพาเราสร้างบารมี ฝ่าวิกฤต หลวงปู่สมัยสงครามโลกหนักกว่าเยอะ เราสบาย ๆ ไม่ต้องทำวิชชา 24 ชม. ปัดลูกระเบิดเหมือนคุณยาย  นั่งสวดธัมมจักรฯ ไม่ถึงนั่งเข้ากะหลับตา ทำสมาธิ

                           ช่วงนี้มีบุญต่อเนื่อง หมู่คณะยังรักษาพื้นที่ เพราะภัยศาสนามาก ในละเอียดหลวงปู่ หลวงพ่อ คุณยาย ไม่ได้มองมนุษย์ฆ่ากันเอง มองถึงต้นตอ มารบังคับบัญชาอยู่  เราเป็นลูกก็ต้องฟัง ดำเนินชีวิตตามท่าน ทุกอย่างง่ายจะเอง  ดั่งใจเรานึก  สำเร็จที่ใจ เพราะฉะนั้น ก่อนเอาชนะมาร เอาชนะใจเราเองก่อน  อย่าท้อถอย ชีวิตมนุษย์สั้น  เราสร้างวัดพระธรรมกายมา 48 ปีแล้ว  ความแข็งแรงสดชื่นเสื่อมไปทุกวัน  ก่อนจบ มาฟังข่าวดีกันหน่อย (เพลง...ข่าวดี...)

                             ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย อำนาจคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า ทั้งหลาย ตลอดจนบุญบารมี รัศมีกำลังฤทธิ์ อำนาจ สิทธิ์เฉียบขาด พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร หลวงพ่อธัมมชโย คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง จงคุ้มครอง ปกป้อง รักษา ให้พวกเราทุกท่านมีความสุข มีความเจริญรุ่งเรือง ในธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบไป หลวงปู่ หลวงพ่อ คุณยายได้บรรลุธรรมละเอียดลึกไปถึงไหน ขอให้พวกเราเองมีส่วนรู้ส่วนเห็นธรรมที่ท่านได้ตรัสรู้นั้นแล้วด้วย จงทุกท่านทุกประการเทอญ วันนี้ราตรีสวัสดิ์พระรัตนตรัย  (เพลง...Nite Nite Trlple Gem...) (ราชสีห์...ตอนที่ 10...)            (เพลง...พระศรีอริยเมตไตรย์ V4 ...)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2561   พระครูสังฆรักษ์อน...