วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2561


โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2561

พระอนุพงษ์ อุทคฺโค

แสดงธรรมเรื่อง อนุปุพพิกถา

ห้องSPD 4 สภาฯ

**********************

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เจริญพรนักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาทุก ๆ คน  เริ่มรายการด้วย  MV  ยิ้มแล้วรวยนะ

  ยิ้มหรือยังจ๊ะ  ยิ้มแล้วรวย  อย่างน้อยเราก็รวยรอยยิ้ม ขนาดที่แจกคนอื่นเขาได้ รวยความสุขเอ่อล้นออกมา จริง ๆ แล้วยิ้มเป็นการแผ่เมตตาอย่างหนึ่ง เพราะคนที่เห็นเรายิ้มก็มีความสุข ให้ยิ้มเข้าไว้นะ

หลวงพี่ไม่ได้มาเทศน์ที่นี่ประมาณ 1 ปี ช่วงปีที่แล้วกำลังสนุกเลย ช่วงที่เขามาให้ความอบอุ่นกับเรา ได้ไปปฏิบัติหน้าที่ต่างประเทศ มีนโยบาย  1 ปีกลับหนึ่งหน ก่อนจะกลับก็นึกว่ากลับไปทำอะไรดี  หนึ่งในนั้นก็ต้องมาเทศน์ในโรงเรียนอนุบาลฝันในฝัน จองตั้งแต่ก่อนกลับเลย มาได้วันกลับ แต่ปรากฏว่าเมื่อวานเกิดปัญหานิดหน่อย ฟันแตกจึงได้อยู่อีกอาทิตย์หนึ่ง ทำให้นึกถึงความชราของตัวเอง ปกติไม่ค่อยนึกถึง หลวงพี่ไม่ค่อยป่วย จำไม่ได้ว่าฉันยาเมื่อไหร่ คือปวดหัวตัวร้อน ไม่ค่อยป่วย ก็เลยไม่คิดว่าตัวเองแก่ แต่พอฟันแตกโอ้ เราแก่แล้วนะ ฟันเราสู้อาหารไม่ได้อ่อนแอ ก็ได้พิจารณาวัยตัวเอง จะได้ไม่ประมาท

นึกถึงการที่เรามาฟังธรรมกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า...เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ยาก การเกิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยาก การที่เราได้เกิดมาเจอพระพุทธศาสนา ได้มาฟังธรรมก็ยาก แต่การเทศน์ยากกว่านะ  กว่าจะได้เทศน์ยากนะ  อยู่ต่างประเทศ สมมุติว่าวัดหนึ่งมีพระ 7 องค์ เทศน์กันสลับกันคนละอาทิตย์ ยกเว้นต้นเดือน  2 เดือนกว่าจะเทศน์ครั้งหนึ่ง  และบางครั้งต้องเล่นมุขกับโยม..บอกว่าโยมมาถวายภัตตาหารเสร็จ เดินทางกลับ โยมได้บุญแล้ว  แต่พระอยากได้บุญบ้าง คือ อยากเทศน์ แต่ไม่มีใครฟัง   อย่าเอาเปรียบพระ  โยมต่าง ประเทศกำลังฟังอยู่หรือเปล่า

อนุปุพพิกถา  มี 5 ข้อ  ที่จริงธรรมบทนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจะเทศน์กับอีกหมวดหนึ่งคือ อริยสัจ 4 คือเริ่มต้นด้วย อนุปุพพิกถาก่อนและก็ตามด้วยอริยสัจ 4 ตอนอยู่ที่อเมริกามีโยมอยู่กลุ่มหนึ่งมาสนทนาธรรมและมาฟังธรรม เขาถามคำถาม  จากคำถามที่เขาถามรู้ธรรมะเยอะ ถามเรื่ององค์แห่งฌาน  นั่งสมาธิ หลวงพี่ก็ข้ามไปเทศน์อริยสัจ 4 ก่อน เทศน์ไป 3ชั่วโมงกว่าปรากฏว่าพื้นธรรมะโยมดี  แต่พื้นเรื่องการปฏิบัติ   เรื่องใจยังต้องปรับฐานอยู่ หลวงพี่คิดว่าจะต้องเริ่มที่อนุปุพพิกถาก่อน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเริ่มปูพื้นก่อน

อนุปุพพิกถา มี 5 ข้อ (1.ทาน 2.ศีล 3.สวรรค์ 4.โทษแห่งกาม 5.อานิสงส์แห่งการออกบวชหรือเนกขัมมะ)  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเทศน์ในยุคแรกๆ  เทศน์ให้โยมฟัง  โยมกลุ่มแรกท่านเทศน์ให้กับยสกุลบุตร เพื่อน และแม่ เป็นโยมหมดเลย เป็นการเทศน์หลังจากเทศน์ให้กับปัญจวัคคีย์ (เป็นนักบวช) ท่านจึงไม่เทศน์บทนี้ แต่โยมกลุ่มแรกที่เทศน์เรื่องนี้

หลวงพี่ไปดูความสำคัญว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงต้องเทศน์เรื่องนี้ก่อน ...พูดเรื่องทานฟังจากโรงเรียนอนุบาลของพระอาจารย์จุมพล เรื่องทานเรื่องเดียวท่านเทศน์อยู่ 2 วัน เป็นแค่เกร็ดความรู้เรื่องทาน ฟังแล้วได้ประโยชน์เยอะเลย  บางทีเรารักในการทำทาน แต่เราก็ยังไม่รู้อีกหลายเรื่องในเรื่องของการทำทานวันนี้หลวงพี่จะเทศน์เพียงสั้นๆ ใครสนใจไปหาฟังกันจาก youtube

วัตถุประสงค์ที่เราทำทาน จริง ๆ กิเลสที่มันเกิดขึ้น  ความโลภที่เกิดขึ้น เพราะเราอยากได้ของคนอื่น แต่ถ้าเราสละความตระหนี่ออกไป กิเลสตัวนี้มันก็แพ้ทางออกไป แต่นอกจากความโลภแล้ว ... เมื่อเราไม่ได้  ความหงุดหงิดเข้ามา  เป็นกิเลสตัวที่ 2 มันเป็นต้นเหตุแห่งการเกิดโทสะ   ถ้าเราละจากความตระหนี่ได้ คือเราไม่ติดอะไรเลย ใครอยากได้อะไรก็เอาไป เราไม่หวงแหน แต่หากว่าเราตระหนี่  แม้เราเป็นเจ้าของ  คนมาเอาของเราไป เราก็โกรธ แต่ถ้าเราไม่ติดในของสิ่งนั้น ไม่มีความตระหนี่  เราก็ไม่โกรธ  และเมื่อเรายึดติดในของเหล่านั้นเป็นเหตุให้ใจเราไม่สามารถปล่อยวางได้   เพราะฉะนั้นเป็นข้อแรกที่สำคัญ บางท่านอาจจะบอกว่า บางที่ไปเผยแพร่ชาวต่างชาติ อาจจะเริ่มที่ภาวนาก่อน เพราะว่าเขายังไม่รู้จักการให้ทาน  แต่ทิ้งเรื่องทานไม่ได้ เพราะมันมีผล

แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านยังยกเอามาเป็นข้อแรก  ในการสั่งสมบุญ ย่อ ๆ คือมี ทาน... ศีล ..ภาวนา ท่านยกข้อนี้เป็นข้อแรก ถ้าเราเทียบดูใน อนุปุพพิกถา 5 ทาน .. ศีล .. อยู่ 2 ข้อแรก และที่เหลือปูพื้นกว่าจะถึง อริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ข้อสุดท้ายคือ สัมมาสมาธิ สมาธิไปอยู่สุดท้าย ปูพื้นตั้งแต่ อนุปพพิกถา ทาน.. ศีล ..แล้วปูพื้น กว่าจะเข้าภาวนาอีกหลายขั้นตอน เพราะฉะนั้นการปูพื้นจึงสำคัญ

แม้มีความรู้ธรรมะเยอะ แต่ถ้าข้ามขั้นตอน ปฏิบัติก็ไปได้ไม่เท่าไหร่ เพราะฉะนั้น เรื่องทาน  นอกจากที่เราจะได้สละความตระหนี่แล้ว  ยังทำให้ใจของเราใสสะอาดบริสุทธิ์ และก็หลุดพ้นจากกิเลสตัวอื่นได้ด้วย  กิเลสตัวอื่นก็จะลดน้อยลงไปด้วย ที่เราบอกว่าทำทานแล้วรวยอันนี้ชอบนะ ก็เป็นอีกวัตถุประสงค์หนึ่ง  เราทำอย่างไรให้ถูกหลักวิชชา ทำอย่างไรให้ถูกเนื้อนาบุญ  หลวงพี่เห็นหลายๆท่านรักในการสั่งสมบุญ ก็ขออนุโมทนา  

แต่ว่ามีบางเรื่องที่อยากจะชี้ให้เห็น คือการสละความตระหนี่ยกตัวอย่างของพระโพธิสัตว์ ที่ท่านเกิดมาชาติหนึ่งชื่อว่า วิสัยหเศรษฐี ท่านตั้งความปรารถนาจะทำทานทุกวัน จนกระทั่งพระอินทร์บัลลังก์ร้อนและแข็ง   พระอินทร์กลัวว่าใครทำบุญเยอะจะถูกแย่งตำแหน่ง จึงลงมาทำให้ทรัพย์ของเศรษฐีหายไปหมด  เศรษฐีตื่นขึ้นมา คนรับใช้บอกทรัพย์หายหมดแล้ว  ก็ไปดู ...หายจริง ๆ  ดูไปมาเจอเคียวเกี่ยวหญ้าที่คนที่มารับทานลืมไว้  จึงไปเกี่ยวหญ้า เอาหญ้าไปขาย แล้วเอามาให้ทานต่อ แต่ได้มาน้อย คนที่ขอไม่ได้ก็มาขออีก  จนกระทั่งส่วนที่ตัวเองจะทานหมด ให้จนหมด เป็นอย่างนี้ 7 วัน  ไม่ได้ทานข้าว

พระอินทร์ลงมาถามว่า.. ดูซิท่านทำทานแล้วเดือดร้อนตัวเอง ท่านทำทานไปทำไม ทำเพื่ออะไร  วิสัยหเศรษฐีจึงถามว่าท่านเป็นใคร  เราเป็นพระอินทร์  เศรษฐีก็ถามต่อไปว่าก็เพราะท่านทำทานมาไม่ใช่หรือ  ท่านจึงได้มาเป็นพระอินทร์  พระอินทร์ตอบไม่ได้ .. ถามเศรษฐีต่อว่า ท่านทำทานเพื่อหวังอะไร เศรษฐีตอบว่า...เราทำทานไม่ได้เพื่อหวังไปเกิดเป็นพระอินทร์ เราทำทานเพื่อหวังพุทธญาณ ต้องการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอินทร์รู้ว่าไม่ได้มาแย่งตำแหน่ง  จึงได้เอาสมบัติมาคืนให้

คือสละความตระหนี่โดยไม่คิดว่าตัวเองจะมีกินหรือไม่  ไม่เดือดร้อนเลย ต้องมองให้ออก คำว่าเดือดร้อน  ไม่รู้ว่าคนพูดเดือดร้อน หรือคนทำเดือดร้อน .. ถ้าเรามองวิสัยหเศรษฐีแบบชาวโลก  เราก็นึกว่าท่านเดือดร้อน  แต่ที่จริงท่านไม่ได้เดือดร้อน  คำว่าเดือดร้อนคือมันสุกจนทนไม่ไหว แต่ท่านเฉยๆ พระอินทร์ก็มาห้าม  ก็ห้ามไม่ได้เพราะท่านไม่เดือดร้อน คนพูดเดือดร้อนแทน เหมือนพระเวสสันดรให้ทานจนชาวเมืองไล่ออกจากเมือง ของที่ให้เป็นของพระองค์ แต่ชาวเมืองเดือดร้อน   เพราะไม่เข้าใจเรื่องทาน จึงคิดไม่เหมือนกัน แต่คนที่เข้าใจเรื่องทานอยากจะสละความตระหนี่ออกไป  เพื่อให้กิเลสหมดไป เราอยากเก็บความตระหนี่  หรือหรืออยากเก็บกิเลส หรือจะเก็บทรัพย์สมบัติ  หรืออยากจะเก็บบุญ   อยากเก็บบุญจะต้องให้ทานเต็มกำลังศรัทธา

บางครั้งถ้าเราทำแล้วคิดว่าเราเดือดร้อน  ก็อย่าทำ   ถ้าคิดว่า..ทำแล้วเราไม่เดือดร้อนก็ทำ  คำว่าเดือดร้อนเอาอะไรวัด ...เอาใจที่ศรัทธาของเรามาวัด  ไม่ได้เกี่ยวกับคนอื่น  ยกตัวอย่างมาเพื่อให้เห็นภาพชัด  ว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับความเดือดร้อนที่ชาวโลกเขาเข้าใจกัน เพราะฉะนั้นเราทำของเราเต็มที่  ไม่ต้องไปฟังเสียงใคร เพราะเขาไม่เข้าใจเรื่องการทำทาน...เรื่องตัดความตระหนี่ออกจากใจ อันนี้เป็นตัวอย่างที่พระโพธิสัตว์ท่านทำมา

เราเป็นลูกของพระพุทธเจ้า ก็ต้องดูตัวอย่างจากท่าน ใครจะมาว่าก็บอกว่าพระพุทธเจ้าท่านทำมาอย่างนี้ เราทำยังไม่ได้ถึงเสี้ยวของท่านเลย หายากที่จะทำได้แบบท่าน แต่ว่าถ้าเราทำไปเรื่อยๆ ก็จะพัฒนาขึ้นไปถึงจุดนั้นเอง คือจุดที่ใจของเราไม่มีความตระหนี่ สละได้ทุกอย่าง  ..ใจของคนที่ไม่ยึดติด ใจมันเกลี้ยงใจเข้าถึงธรรมง่าย  ใจของคนตระหนี่มันเข้าถึงธรรมยาก อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นจุดแรก ที่สำคัญจริงๆ

เรื่องการทำงานของเราบางครั้งเราทำงานเต็มที่ แต่ว่ามีบางอย่างที่เห็นแล้วเสียดายแทน เราทำเต็มที่ แต่ไม่ได้บุญเต็มที่   ตัวอย่างที่หลวงพี่เจอ มันเกิดจากบางครั้งเป็นความผิดพลาดบางประการ เช่น เราจัดพิธีกรรม เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์และยกใจเรา แต่บางครั้งพิธีกรรมผิดพลาด ประกาศชื่อตก ชื่อเราหาย  รู้สึกใจตกไปด้วย บุญที่เกิดก็ตกไปด้วย ผลเสียก็เกิดขึ้นกับตัวเราเอง

ถ้าเรามองย้อนไปว่าเราทำบุญเพื่ออะไร สละความตระหนี่ พิธีกรรม จะเป็นของที่ระลึกก็ตาม  บางคนได้ของที่ระลึกไม่สวยก็ใจตก   ทั้ง ๆ ที่วัตถุประสงค์เพื่อตัดความตระหนี่  แทนที่จะเป็นเครื่องระลึกนึกถึงบุญ  ใจตกไปในเรื่องที่น่าเสียดาย แค่เรื่องของที่ระลึกก็มีปัญหา จนกระทั่งบางท่านไม่มาวัดก็มี หลวงพี่เสียดายว่าสร้างบารมีมาตั้งนาน อดีต และชาติที่แล้วเราก็สร้างบารมีร่วมกันมาตั้งนาน แต่มาพลาดเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

เรื่องบางเรื่องมันเป็นส่วนประกอบ ทั้งพิธีกรรม ของที่ระลึก แม้กระทั่งการให้พร เป็นส่วนประกอบที่ยกใจ เหมือนเด็กที่ขี่จักรยานใหม่ๆ จักรยานจะมีล้อข้าง ๆ เพื่อประคับประคองไม่ให้ล้ม พอขี่เป็นแล้วล้อข้างไม่มีความจำเป็น แต่บางคนเหมือนไปติดล้อข้าง  ไม่มีล้อข้างไปไม่เป็น ไม่มีชื่อฉันไม่ยอมทำ ไม่มีของที่ระลึก รู้สึกบุญนี้ไม่น่าทำ  บุญไหนมีของที่ระลึกบุญนี้น่าทำ  ทั้ง ๆ ไม่ได้มองว่าทำบุญเพื่ออะไร  ของที่ระลึกสวยทำเยอะหน่อย  ถ้าของที่ระลึกไม่สวยก็ทำน้อยหน่อย เราจะเอาบุญหรือจะเอาอะไร

เพราะฉะนั้นต้องมองว่าของเหล่านี้มีไว้เพื่อประคับประคองแต่ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลัก พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่าจะต้องมีอันนี้เกิดขึ้นแต่ว่าเราทำเพื่อให้ยกใจ แต่อย่าให้มาเป็นเหตุที่ทำให้ใจเราตก

บางท่านบอก ถ้าไม่ได้กล่าวไม่ได้   ฉันไม่ยอม  บางทีพิธีกรรมเยอะจนแทบจะไม่เหลือเวลาเทศน์ จะเหมือนศาลเจ้า คนโน้นกล่าวเสร็จ คนนี้ถวาย  พอพิธีกรรมเสร็จ หมดเวลาเทศน์ เหลือเวลาให้หลวงพี่เทศน์นิดหน่อย  ทำให้เราควรมองย้อนไปถึงวัตถุประสงค์ของการให้ทานว่า..เราให้ไปเพื่ออะไร แล้วเราจะปลื้มปีติใจ

ในเรื่องนี้เคยยกตัวอย่างเรื่องอนาถปิณฑิกเศรษฐี ตอนที่ท่านสร้างวัดเชตวัน  ท่านเอาเงินปูเรียงกันซื้อที่ดิน แพงด้วย สร้างวัดหมดเงินไป 54 โกฏิ พอถึงประตูวัด เจ้าเชตขอถวาย แต่ขอเป็นชื่อเรา  ตั้งชื่อวัดเป็นชื่อเจ้าเชต ท่านอนาถท่านก็ยอม ...ชื่อวัด  ไม่ได้มีผลกับบุญ สร้างวัดทั้งวัดแต่ไม่ใช่ชื่อตัวเอง แต่บุญก็ไม่ได้ลดลง  พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเลิศในการเป็นพุทธอุปัฏฐากในด้านการถวายทาน ในยุคนั้นคนที่เป็นอุบาสก เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี ก็มี ที่รวยกว่าท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีก็มี ที่มีทรัพย์ตักไม่พร่องก็มี ที่เป็นกษัตริย์ก็มี อำนาจมากกว่าก็มี แต่พระพุทธเจ้ายกย่องท่าน เพราะทำทานอย่างถูกหลักวิชชา

เราเข้าใจวัตถุประสงค์ไหม   ดูอนาถปิณฑิกเศรษฐีเป็นตัวอย่างท่าน ไม่ติดอะไร มีก็ดี เพราะจะทำให้เราปลื้ม แม้ว่า..ไม่มี  ก็ทำให้เราสละความตระหนี่ออกจากใจ ให้เราปลื้มในผลแห่งทาน ไม่ว่าจะมีพิธีกรรมหรือไม่มี   ...มีชื่อหรือไม่มีชื่อ เพราะว่าไม่ใช่วัตถุประสงค์หลัก เหมือนล้อข้างของจักรยาน  ถ้าเราเป็นแล้วไม่ต้องใช้แล้ว   แค่ประคับประคองเฉย ๆ ไม่ใช่ล้อหลัก

บางเรื่องหลวงพี่จะพูดตอนนั้นก็พูดไม่ได้ เพราะจะทำให้เขาไม่ปลื้ม อย่างเช่นเรื่องภัตตาหาร ตอนหลวงพี่บวชใหม่ ๆ น้ำหนัก 55 กิโลกรัม บวชมา 20 กว่าปี  ปัจจุบันน้ำหนัก 80 กิโลกรัม ปีละ 1 กก  เป็นปัญหาหนึ่งที่ตอบยากมาก โยมมาถวาย หลวงพี่ฉันเสร็จโยมถามทำไมหลวงพี่ฉันน้อยจัง  ตอบยากมากเลย หาคำตอบที่ถูกใจโยม  นึกถึงตอนไปปฏิบัติที่เชียงใหม่ น้ำหนักตอนขึ้นไปหนัก 80 กิโลกรัม นั่งสมาธิ 3 เดือนกว่าน้ำหนักลดลงไปเหลือ 60 กว่ากิโลกรัม ฉันภัตตาหารน้อยมาก นั่งธรรมดี โยมได้บุญเยอะ  แต่ถ้าหลวงพี่ฉันเยอะ  แล้วนั่งหลับโยมก็ได้บุญน้อย กว่า

บางครั้งก็มองว่าพระฉันน้อยไม่ปลื้ม ถ้าฉันเยอะปลื้ม หลวงพี่จะพูดตอนนั้นก็คิดถึงโยม ต้องการถนอมน้ำใจโยม  โดยมนั่งรถมา 3 ชั่วโมงมาทำภัตตาหารให้อย่างดี ก็อยากให้โยมปลื้ม  แต่ถ้าโยมรู้หลักวิชชาโยมปลื้มได้ โดยที่ไม่ต้องถาม   ถ้าเข้าใจเรื่องของทานแล้ว เราเข้าใจวัตถุประสงค์แล้ว เราก็จะให้ทานได้ถูกหลักวิชชาก็ได้บุญเต็มที่เต็มเปี่ยม

ต่อมาเรื่องศีล (ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227)  การที่ใจจะชำระให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ต้องบริสุทธิ์ทั้งกาย  วาจา  ใจ ถ้าเปรียบโอวาท 3 ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ละชั่ว ...ทำดี ..ทำใจให้ผ่องใส เปรียบเหมือนบ่อน้ำจะทำให้บ่อน้ำสะอาดได้ อันดับแรกต้องไม่ทิ้งอะไรลงไปในบ่อ ละชั่วก่อน.. ถ้าเราทิ้งอะไรลงไปในบ่ออย่างไรก็ไม่มีทางสะอาด   เราต้องหยุดทิ้งก่อน

การที่เรารักษาศีลก็คือการที่เราไม่ทำความชั่วทางกาย ทางวาจา เหมือนกับที่เราไม่เติมสิ่งสกปรกลงไปในบ่อ มันจะเป็นตัวที่ไม่ทำให้เราถอยหลังกลับ  คือถ้าเราไม่ทำผิดศีล ไม่ทำบาป  ก็จะไม่เกิดวิบากกรรมที่เราจะต้องชดใช้  จะเป็นการสร้างบารมีที่เดินหน้าไปอย่างเดียวแต่ถ้าเราผิดศีล  ..ทำบุญก็เดินหน้า.. ผิดศีลก็ถอยหลัง.. เดินหน้าไป 1 ก้าว ถอยหลังไป 2 ก้าว มันก็ไปไม่ถึงจุดหมาย

การที่เรารักษาศีลจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง แม้กระทั่งก่อนที่เราจะให้ทานเราก็ยังรักษาศีล  เพื่อให้ใจเราบริสุทธิ์  รองรับผลแห่งทานได้มากที่สุด เหมือนภาชนะที่สะอาดบริสุทธิ์  ศีลจึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นตัวทับทวีด้วย  สมมุติเราศีล 5 เราทำบุญเราก็ได้บุญระดับหนึ่ง   เราศีล 8 เราทำบุญก็ทับทวีบุญเข้าไปอีก   เพราะความบริสุทธิ์เรามากขึ้น   เราศีล 10 เราก็ทับทวีขึ้นไปอีก   ศีล 227 ก็ทับทวีขึ้นไปอีก   เราทำเท่ากันสละความตระหนี่เท่ากันแต่ศีลไม่เท่ากันก็ได้ผลไม่เท่ากัน   มันขึ้นอยู่กับความสะอาดของศีลด้วย  ความสะอาดมากก็รองรับได้มาก เมื่อเราชำระศีลได้บริสุทธิ์แล้ว

 พระพุทธเจ้าท่านพูดถึงเรื่องของสวรรค์ ที่คุณครูไม่ใหญ่เอามาเปิดให้เราดู ไม่ใช่เอาสวรรค์มาล่อ เอานรกมาขู่ เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็พูดถึงเรื่องนี้มาเทศน์ เพราะว่าต้องการให้มีกำลังใจในการสร้างบารมี ในการทำความดี   เมื่อเราทำแล้วมีผลอย่างไร  บุคคลที่สั่งสมบุญไว้ดีแล้ว  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเวลาละโลกเหมือนละจากภาชนะดิน  เป็นภาชนะทองคำ เราละจากกายมนุษย์ที่เน่าเหม็นไปสู่กายทิพย์ซึ่งดีกว่า   

คนที่สั่งสมบุญมาดีแล้วจะไม่กลัวต่อมรณะภัย  เพราะรู้ว่าเมื่อเราละจากโลกนี้ไปแล้วก็ไปดี  แต่คนที่กลัวตายทำบาปไว้เยอะคนที่ไม่รู้ว่าเวลาไปแล้วจะไปเจออะไร แต่ถ้าเรารู้ว่าเราสั่งสมบุญมาขนาดนี้ ใจผ่องใสขนาดนี้คติเราไปสู่สวรรค์มันไม่กลัว ให้เรามั่นใจว่าที่เราทำบุญ  มากกว่าบาป  ใจเราผ่องใสพอ แต่เราก็ไม่อยากรีบไป เราจะใช้เวลาเพื่อสั่งสมบุญให้มันมากเข้าไปอีก เมื่อถึงเวลาแล้วเราจะไม่กลัว เพราะว่าเราจะไปสู่ภพภูมิที่ดีกว่า

นักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาถ้าเรายังกลัวตาย  แสดงว่าบุญเรายังไม่พอ  ยังไม่อาจหาญพอ  ต้องสั่งสมบุญเพิ่ม แต่ก็ไม่ใช่พวกมิจฉาทิฏฐิที่ต้องสละชีพเพื่ออะไรก็แล้วแต่  ไประเบิดตัวเองอันนั้นก็ไม่ใช่  ไม่กลัวตายแบบผิดๆ  ถ้าเราสั่งสมบุญมาดีเราเห็นภาพชัดเจนถ้าเราจะละโลกว่าเราจะไปดี  เทศน์งานศพ  ยากมาก เทศน์อย่างไรให้คนมีอารมณ์ฟัง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านพูดเรื่องสวรรค์ให้เราเกิดกำลังใจในการสร้างบุญ อะไรที่ทำให้เราเกิดกำลังใจในการสั่งสมบารมีพูดไปเถอะ เป็นกุศโลบาย แล้วมันก็เป็นเรื่องจริง ท่านเห็นมาอย่างนั้น ท่านก็พูดอย่างนั้น คนไม่เชื่อเพราะไม่เห็น ก็ไม่ใช่ว่าสิ่งที่ไม่เห็นมันจะไม่มี ตัวเองยังไม่ได้พิสูจน์ ต้องแบบคุณยาย ตอนหลวงพ่อไปหาคุณยาย   ถามคุณยาย นรกสวรรค์มีจริงไหม คุณยายบอกว่ามี ยายไปมาแล้ว อย่างนี้มั่นใจนะ มาเจอครูบาอาจารย์แบบคุณยายเรามีกำลังใจนะ เรามีครูบาอาจารย์อย่างสัมมาสัมพุทธเจ้าเราก็มีกำลังใจ การพูดเรื่องของสวรรค์เป็นเรื่องที่ต้องพูด  ไม่ใช่เอาสวรรค์มาล่อ เอานรกมาขู่กัน

เรื่องโทษแห่งกาม (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) แต่เรื่องหลักใหญ่คือเรื่องของเพศ กามมันเกิดขึ้นมันทำให้ในของเราตกต่ำ มารกดให้ธาตุธรรมเราตกต่ำ เคยฟังที่หลวงพ่อท่านพูด เรื่องการเสพกามของเทวดา กามภพรวมถึงเทวดา สวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ถ้านอกจากนี้ไปก็เป็นรูปภพกับอรูปภพ กามภพเป็นภพแห่งการเสวยกาม นับตั้งแต่สวรรค์ชั้น 6 ลงมา  โลกมนุษย์ สัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย  แต่การเสพกามไม่เหมือนกัน  สวรรค์ชั้น 6 เสพกามด้วยการมองตากันเฉยๆ มองตาแล้วมีความสุข  ไม่ต้องสัมผัสตัวกันเลย  มีความสุข ความประณีตมากที่สุดในบรรดาที่อยู่ในกามภพทั้งหมด  ถ้าอยากรู้ให้นั่งถึงธรรมแล้วไปดู

สวรรค์ชั้น 5 หยาบลงมานิดหนึ่ง คือจับมือกัน มีความสุขความประณีตลดลงมา

สวรรค์ชั้น 4 กอดกันหลวมๆ

สวรรค์ชั้น 3 กอดกันแน่นขึ้น ความสุขความประณีตลดลงมา

สวรรค์ชั้น 2 เหมือนมนุษย์ปกติ

สวรรค์ชั้น 1 เหมือนมนุษย์ปกติด้วย เหมือนมนุษย์พิเศษด้วย (ชายกับชาย , หญิงกับหญิง)

หลวงพ่อท่านบอกว่าสุดท้ายก็พึงพอใจในอวัยวะที่สกปรกที่สุดคืออวัยวะขับถ่าย จากตาคืออวัยวะที่สวยงามที่สุด แต่ว่ามันเซตโปรแกรม มารไม่ธรรมดานะ เซตกิเลสให้เราพึงพอใจ ในอวัยวะที่สกปรกที่สุด จากสะอาดประณีต  กามก็เหมือนกัน  จากสะอาดประณีตก็ลดหลั่นไปเรื่อย ๆ จนไปถึงหยาบสุด  ซึ่งบางครั้งถ้าคนภายนอกที่ไม่รู้เขาก็ใช้ชีวิตแบบชาวโลก เขาคิดว่าเป็นเรื่องปกติของการสืบเผ่าพันธุ์ ต้องมีกามมีการสืบพันธุ์ มีพ่อมีแม่มีลูก

แต่ถ้าผู้รู้อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็บอกว่ามนุษย์ยุคแรก ๆ เกิดจากพรหมลงมากินง้วนดิน เป็นธาตุหยาบพอกินก็เกิดระบบขับถ่าย ด้วยวิบากกรรมบางคนก็เป็นชาย บางคนก็เป็นหญิงแล้วเริ่มเกิดกิเลส แรกๆใครเสพกามก็ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ต้องไปหลบๆซ่อนๆ ต่อมาเมื่อกิเลสมันมากเข้า  เรื่องผิดปกติมันกลายเป็นเรื่องปกติ  พอหมดยุคจากเกิดเป็นพรหมด้วยต้องอาศัยครรภ์มีพ่อมีแม่ก็เป็นเรื่องปกติ สืบมายาวนาน

จนกระทั่งเหมือนเทวดาชั้นหนึ่งมีมนุษย์แบบพิเศษขึ้นมา มันก็บังคับอีกว่าจะต้องไปชอบแบบนี้นะ อย่าไปชอบเพศตรงข้าม ต้องไปชอบเพศเดียวกัน ตอนสมัยหลวงพี่เป็นเด็ก เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว  เรื่องชายกับชาย หญิงกับหญิงยังเป็นเรื่องแปลกอยู่ อยู่ในโรงเรียนไม่ค่อยมี แต่เดี๋ยวนี้เริ่มเยอะขึ้น  ที่ต่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติแล้ว  ถึงกับออกกฎหมายให้แต่งงานกันได้ เพราะใจมันหยาบลงเรื่อยๆ  จนกระทั่งมันเป็นเรื่องปกติ  ตอนแรกที่เราคิดว่าเป็นเรื่องปกติของการสืบเผ่าพันธุ์ แต่ความจริงมันไม่ใช่  เขาอาจจะคิดว่าเป็นการละเมิดสิทธิของเขา และต่อไปเมื่อหยาบขึ้นๆมันก็จะหนักกว่านี้

ในพระไตรปิฎกบอกไว้เลยว่าในอนาคตใจจะหยาบขึ้น แม้แต่พี่ น้องก็ผิดกันได้ หรือแม้แต่คนกับสัตว์ มันผิดปกติ แต่มันก็มี   และมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว  อนาคตถ้ามันหยาบลงๆ มันก็จะมองเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งถ้าไม่มีผู้รู้มาบอกเรา เราคิดไม่ออก  เราไม่สามารถที่จะคิดได้ เราก็จะหลงมัวเมา ซึ่งโทษแห่งกามมีเยอะ

 เมื่อเราติดตรงนี้มันเป็นด่านสำคัญเลย ทำให้ใจเราไม่หยุดไม่นิ่ง ในนิวรณ์ 5 เรื่องแรกคือกามฉันทะ เอาไว้เรื่องแรกเลย เป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการเข้าถึงธรรมของเรา พระพุทธเจ้าท่านพูดเรื่องนี้เพื่อให้เราเห็นโทษแห่งกามว่ามันมีคุณน้อย มีโทษมาก เหมือนเนื้อติดกระดูก แทะไปได้นิดเดียวสุดท้ายไปเจอกระดูก

พระพุทธเจ้าให้ทางแก้ ให้พิจารณาความไม่งามของร่างกายของเรา     พิจารณาอสุภะ ความไม่จีรังยั่งยืนของเรา หรือพิจารณ าการเสพกามที่หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่ามารมันกดเราให้ตกต่ำถึงขนาดให้พึงพอใจในอวัยวะที่สกปรก พิจารณาไปเรื่อยๆมันก็ทำให้ใจเราหลุดจากเรื่องนี้

เรื่องเนกขัมมะ คืออานิสงส์การออกบวช พระพุทธเจ้าท่านเปรียบการออกบวชว่า ฆราวาสเป็นทางมาแห่งธุลี การออกบวช การพรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง เมื่อมาบวชแล้วใจปลอดโปร่ง โล่ง  โกนหัว ก็ใกล้เป็นพระ พอเรามาฝึกตัวไม่มีเรื่องทางโลก  มาเป็นพระท่านสอนให้พิจารณาปัจจัย 4 (จีวร อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค) การเป็นพระชีวิตเรียบง่าย เหมาะแก่การเข้าถึงธรรม

57.00 การเป็นพระมีความเป็นอยู่ที่ง่าย การเป็นฆราวาสมีความเป็นอยู่ที่ยุ่งยาก แต่เป็นพระโอกาสที่จะติดก็มีอยู่ เช่นในสมัยพุทธกาล มีพระติสสะท่านได้ผ้ามาฝืนหนึ่ง ท่านได้นำไปฝากโยมพี่สาวไว้พี่สาวเห็นว่าเป็นผ้าเนื้อหยาบจึงนำมาตำใหม่ กรอเป็นด้ายแล้วเอามาทอใหม่เป็นผ้าเนื้อละเอียด โยมเตรียมทำไว้ให้พระน้องชายมาทวงคืนเห็นเป็นผ้าเนื้อละเอียดจึงบอกว่าไม่ใช่ต้องเป็นผ้าเนื้อหยาบ พี่บอกว่าเอาไปทำใหม่จนเป็นผ้าเนื้อละเอียด ที่จริงแล้วท่านเป็นคนไม่ติดในผ้าเพราะตอนแรกท่านเห็นว่าเป็นผ้าเนื้อละเอียดท่านไม่เอา เมื่อมาทำใหม่แล้วเกิดพอใจในจีวร พรุ่งนี้จะครองจีวร พี่สาวดีใจจัดเลี้ยงเพลพระน้องชาย พระน้องชายลืมพิจารณาจึงฉันภัตตาหารเยอะตกดึกอาหารไม่ย่อยจึงมรณะภาพ ไปเกิดเป็นตัวเล็นอยู่ในจีวร จากพระที่ปฏิบัติดี เป็นตัวเล็น 7 วัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านห้ามไม่ให้ใครไปแตะต้องจีวร หลัง 7 วัน อดีตพระติสสะละจากอัตตภาพตัวเล็นไปเกิดเป็นเทวดาชั้นดุสิตา แต่เพราะไปติดในจีวรท่านจึงต้องไปเกิดเป็นเล็นก่อน

บางคนเลี้ยงหมา เขาบอกว่าเลี้ยงไว้แก้เหงา ที่เราเหงาเพราะไม่ได้เอาใจไปไว้ที่ศูนย์กลางกาย แต่เอาใจไว้นอกตัว ถ้าเอาใจไว้ในตัวก็ไม่เหงา เป็นพระไม่ต้องมีเรื่อง คน สัตว์ สิ่งของเยอะ ปลอดโปร่ง พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญคุณการออกบวช เราก็ซ้อมๆก่อน วันพระรักษาศีล 8

อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) เริ่มต้นจากทุกข์ นึกไปถึงตอนที่พระโพธิสัตว์ท่านตั้งความปรารถนาจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กลางทะเล เพราะท่านเห็นความทุกข์ มันเริ่มจากทุกข์ก่อน และแม้กระทั่งตอนที่ท่านจะออกบวชในชาติสุดท้าย ท่านก็เห็นเทวทูตทั้ง 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย นักบวช ท่านเห็นนักบวชจึงเห็นทางที่จะหลุดพ้น เพราะเห็นความทุกข์ เห็นว่าคนเราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ถ้าเรายังมองไม่เห็นทุกข์มันก็จะยังไม่ขวนขวายออกบวช

มันเหมือนหนอนที่อยู่ในที่สกปรกมันไม่รู้ตัว ตื่นมากินแล้วนอน ไม่รู้ตัวว่าอยู่ในสิ่งที่เป็นความทุกข์ แต่หนอนที่รู้ตัวก็จะพยายามออกจากบ่อ

เรามาวัดเรามาปฏิบัติธรรมเพื่อจะออกจากทุกข์ เราก็ต้องขวนขวาย เพราะจุดเริ่มต้นเราจะเห็นทุกข์ก่อนว่าเรารู้ตัวก่อนว่าเรามีความทุกข์ ชีวิตที่เราเป็นอยู่ในวัฏสงสารมันเป็นทุกข์ เราจึงจะคิดออกจากทุกข์มันเป็นจุดเริ่มต้นในอริยสัจ 4 ทุกข์เกิดขึ้นจากวิบากกรรมเก่า ทุกข์บางอย่างก็เกิดขึ้นจากกิเลส โลภ โกรธ หลง จริงๆ ทุกข์มันเกิดที่ใจ

สมุทัย เป็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์

นิโรธ คือความดับทุกข์

มรรค เส้นทางแห่งการดับทุกข์ มรรคมีองค์ 8 เริ่มตั้งแต่สัมมาทิฏฐิไป บางคนไปเทียบเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆคือ ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส เพราะสัมมา กับมิจฉา จะตรงข้ามกัน สัมมาเป็นดี มิจฉาก็เป็นชั่ว พอละจากมิจฉาเป็นสัมมา แล้วทำใจให้เป็นสมาธิให้ผ่องใส ทั้ง 3 อย่างนี้ต้องทำไปพร้อมกัน ในความเชื่ออื่นส่วนใหญ่จะมีแค่ ละชั่ว กับ ทำดี เขาไม่ได้สอนเรื่องสมาธิ แค่ 2 อย่างนี้มันไม่พอ เพราะว่ากิเลสที่อยู่ในใจถ้าเราไม่เอาออกมันขยายตัวได้ เหมือนในสระน้ำที่มีเชื้อโรคตัวเดียวเดี๋ยวมันก็ขยายต่อได้

เหมือนพรหมที่เกิดมาตอนแรกมีกิเลสเบาบางมาก แต่กิเลสที่มันยังเหลือน้อยนิด พอผ่านไปมันขยายตัวได้ ขยายตัวได้จนกระทั่งเกิดเป็นสิ่งต่างๆมากมาย

ฉะนั้นชีวิตในวัฏสงสาร เราสร้างบารมี ศึกษาธรรมะ บางคนบอกทำแค่นี้พอแล้วคิดว่าเราทำเยอะ เราคิดว่าบาปเล็กน้อยเราไม่ค่อยระมัดระวัง มันก็มีโอกาสพลาดได้

ทั้ง 3 อย่าง ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส เป็นบทสรุปที่หาได้ยาก ที่จะมีผู้รู้ได้มาสรุปได้ขนาดนี้

ศาสนาอื่นที่เห็นส่วนใหญ่ก็จะเห็น ละชั่ว กับ ทำดี ซึ่ง 2 อย่างนี้มันเป็นปกติที่คนทั่วไปเขาคิดได้ ไม่ยาก คนออกกฎหมายมาเขาก็คิดได้ อันไหนมันผิด อันไหนมันถูก แต่จะทำอย่างไรให้มีกำลังใจในการทำความดี ตรงนี้ซิยาก ที่หลวงพ่อท่านเคยบอกว่า รู้หมดแต่อดไม่ได้ ตรงนี้มันสำคัญถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติธรรม กลั่นใจของเรา ใจเราจะไม่มีพลัง เรารู้หมดอันนี้ดี อันนี้ชั่ว อันนี้ผิดศีล แต่บางครั้งก็ยังทำ เพราะใจเรายังไม่มีพลัง

การปฏิบัติธรรมกลั่นใจให้ใสมีผลมาก ทั้ง 3 อย่างมีผล บางคนนั่งสมาธิเยอะแต่ผลการปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้าเพราะศีลไม่ค่อยบริสุทธิ์ จะอ้างว่าค้าขายต้องมีบ้าง แต่เราก็ต้องดูว่าผลเสียมันจะเกิดกับตัวเราขนาดไหน สุดท้ายก็ย้อนมาชีวิตทางโลกเป็นทางมาแห่งธุลี บวชง่ายกว่า การมีชีวิตในทางโลกการประพฤติพรหมจรรย์ให้สะอาดบริสุทธิ์มันยาก

หลวงพี่ไม่ได้เก่ง แต่เพราะมีครูบาอาจารย์ดี บุญเก่าดีจึงได้มาอยู่จุดนี้ ได้มาสู่เส้นทางสะอาดบริสุทธิ์


#ฝันในฝัน   #โรงเรียนอนุบาลฝันในฝัน   #โรงเรียนฝันในฝัน  #กฏแห่งกรรม #ธรรมะ #แสดงธรรม #นักเรียนอนุบาล  

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2561   พระครูสังฆรักษ์อน...