โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา
วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2561
พระมหาคมเพชร ธมฺมวชิโร
แสดงธรรมเรื่อง ทำอย่างไรให้ปลื้มในบุญ
ห้องSPD 4 สภาฯ
********************************
ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณของพระธรรม และพระสงฆ์ ขอความเจริญรุ่งเรืองในพระสัทธรรมจงมีแด่นักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาทั่วโลกทุกท่านนะ และขอเจริญพรนักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งที่นั่งชมถ่ายทอดสดที่ห้อง spd 4 และที่ติดตามชมทางช่อง
GBN ทั่วโลก คาดว่าน่าจะดูกันหลายร้อยพันล้านคน... ไม่ได้เจอกันนานพอสมควร
หลังจากห่างหายไปจากวงการ วันนี้ก็ได้กลับคืนวงการมาอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เป็นการแสดงธรรมครั้งที่เท่าไหร่.... วันนี้ก็คิดว่าจะนำเรื่องราวดีๆ มามอบให้กับนักเรียนทุก ๆ คน นึกอยู่หลายวัน
บังเอิญมีโยมมาถามปัญหาหลวงพี่ ถามว่า.. โยมเป็นไรไม่รู้ช่วงนี้
ทำบุญแล้วไม่ค่อยปลื้มเลย ไม่รู้เป็นเพราะอะไร ..พอได้รับคำถาม หลวงพี่ไม่ได้ตอบคำถามทันที แต่ต้องไปหาข้อมูลก่อน
จริง ๆ แล้วคำถามนี้ถูกถามบ่อย และเคยเจอหลายๆท่านที่ทำบุญทำความดีหลายๆอย่าง
แต่พอทำไปแล้วไม่เกิดความปลื้ม ไม่เกิดความปีติ ไม่เกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่เราทำ มันมาจากสาเหตุอะไร
พระอาจารย์ต้องไปค้นคว้ามาก็เลยได้มาส่วนหนึ่ง คิดว่ายังไม่หมด วันนี้ลองนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียนอนุบาลฝันในฝันร่วมกันว่า
การจะทำบุญแล้วให้ปลื้มจะต้องทำอย่างไร และการที่เราทำแล้วไม่ปลื้มมีสาเหตุอะไรบ้าง
ทีนี้มาดูเรื่องนี้ก่อน คำว่า ปลื้ม
เป็นคำทั่วไปที่เราใช้กันคุ้นเคย
แต่ศัพท์ในพระพุทธศาสนาที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าปลื้มก็คงเป็นคำว่า ปีติ ….ปีติ มี 5 ประการ
1.ขุททกาปีติ หมายถึงปีติเล็กน้อย
ปีติชั่วครั้งชั่วคราว บางทีมีอาการขนลุกชูชัน น้ำตาซึมด้วยความยินดี
2.ขณิกาปีติ หมายถึง ปีติชั่วขณะ เช่น
มีความรู้สึกซู่ซ่าขึ้นมาเหมือนฟ้าแลบแปลบปลาบ
3.โอกกันรติกาปีติ หมายถึง
ปีติชั่วขณะเป็นระลอก ๆ มีระยะความปีติยาวออกมาอีกนิดหนึ่ง
เปรียบเสมือนคลื่นกระทบฝั่งเป็นระลอก ๆ
4.อุพเพงคาปีติ หมายถึง ปีติแบบโลดโผน คือ
ปีติจนกระทั่งทำบางอย่างที่ไม่คาดฝันมาก่อน เช่น
อุทานออกมาด้วยความปีติบางท่านเคยเห็นคนนั่งสมาธิตัวสั่น
นั่นก็เป็นอาการของอุพเพงคาปีติ
5.ผรณาปีติ หมายถึง ปีติซาบซ่าน
เป็นปีติที่เกิดแล้วทำให้รู้สึกชุ่มชื่นใจและซาบซ่านไปทั้งตัว เป็นปีติที่น้อมใจให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ
ปีติทั้ง 5 แบบจะไม่ได้เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว หมายความว่าบางครั้งก็เกิดผสมผสานกัน
ในช่วงขณะนั้นที่เราเกิดความปลื้มในบุญหรือปีติในบุญก็จะมีอาการเหล่านี้ อาการเหล่านี้เรียกว่าอาการของความปีติที่เกิดขึ้นจากบุญ
คนที่จะรู้ก็คือเราเอง เราจะรู้เองว่าเราปลื้มมากหรือน้อย ปีติมากหรือน้อย เราจะรู้ตัว
เราจะมีเครื่องวัดในใจของเราเอง ซึ่งแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน
บางครั้งเราทำสิ่งที่เหมือนกัน อย่างเดียวกัน แต่เราเห็นคนข้าง ๆ
เขาปลื้มมากน้ำตาไหลดีใจ แต่เรารู้สึกว่าเราเฉย ๆ ก็มีนะ แสดงว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน
แต่ละบุคคลก็จะแตกต่างกันไป ไม่มีใครบอกได้ว่าใครปลื้มมากปลื้มน้อยมีแค่เราที่รู้
ความปีติ หรือ ความปลื้ม มีผลต่อบุญในตัวเราอย่างไร ?
ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราเคยฟังเรื่องของการทำทาน
ตรัสไว้ว่า การทำทานให้ได้บุญมากจะต้องประกอบด้วยความบริสุทธิ์ 3 อย่าง ดังนี้
1.วัตถุบริสุทธิ์ หมายถึง
วัตถุที่ถวายเป็นทานต้องได้มาด้วยความถูกต้องชอบธรรม ถ้าเป็นของที่ขโมยมา
บุญก็ลดลงไปตามส่วน
2.เจตนาบริสุทธิ์ คำว่า
เจตนาบริสุทธิ์จะสัมพันธ์กับคำว่าปลื้ม
3.บุคคลบริสุทธิ์ หมายถึง ผู้รับทานของเราเป็นผู้บริสุทธิ์
ยิ่งบริสุทธิ์มาก บุญก็มากขึ้นไปตามส่วน
วันนี้จะพูดถึงเจตนาบริสุทธิ์ คือความปลื้ม
ที่เป็นตัวผลที่ทำให้บุญในตัวเรามากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่ตรงนี้
สมมติว่าเรามีวัตถุทานเหมือนกัน
ถวายทานกับบุคคลเดียวกัน แต่บุญที่เราจะได้ยังไม่ได้บอกว่าอาจจะเท่ากันก็ได้
เพราะยังมีอีกตัวหนึ่งคือ ความปลื้ม จะเป็นตัวบอกว่าได้บุญมาก หรือได้บุญน้อย
(โอวาทของคุณครูไม่ใหญ่ (ทำบุญแล้วไม่ปลื้ม ก็ขาดทุน) ทำบุญแล้วอย่าเสียดาย...ให้ปลื้ม ทำครั้งเดียวต้องปลื้มล้านครั้งจึงจะถูกต้อง
ทำบุญครั้งเดียว ปลื้มไปล้านครั้ง
ทำสองครั้งก็ปลื้มไปหลาย ๆ ล้านครั้ง ทำนับครั้งไม่ถ้วน
ก็ต้องปลื้มกันนับครั้งไม่ถ้วน นั่นแหละจะเป็นทางมาแห่งบุญ)
ใช้ความพยายามเพิ่มไหมการที่เราจะต้องปลื้ม
ปลื้มบ่อยๆ นึกบ่อยๆ เราทำทานไปแล้ว อันนี้พูดถึงทานอย่างเดียว จริง ๆ มีอีกหลายอย่างทั้งศีล
ภาวนา การทำงานพระพุทธศาสนา เราลงมือทำไปแล้ว
แต่การที่เรามานึกปลื้มครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4
เพราะเจตนาที่พูดถึงความปลื้มมี 3 ระยะ
1.ก่อนทำ
รู้สึกอย่างไรปลื้มไหมกับสิ่งที่เราจะทำ เหมือนก่อนที่จะมาโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา
ก็คิดแล้ว เดี๋ยววันนี้จะไปฟังธรรม แต่ยังไม่ได้มาหรอกนะ แต่ตั้งใจแล้วว่าจะมา
ความปลื้มเกิดขึ้นแล้ว ...บุญเกิดขึ้นเกิดขึ้นแล้ว พอถึงเวลาพระอาจารย์มาแสดงธรรม
เราก็มาด้วยความตั้งใจไว้ ความปลื้มและบุญก็เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นเป็นระยะที่
2
ซึ่งระยะแรกและที่ 2
เวลาอาจจะสั้นๆ ไม่นานหรอก แต่ระยะที่ 3 เป็นระยะอนันต์เลยนะ คือมันนานมากแล้ว แต่เราเป็นผู้กำหนด เราจะปลื้มไป 1 ปี 10 ปี 20
ปี 30 ปี 50 ปี ผิดไหม .... ต้องปลื้มไปจนถึงวันตายเลย จริง ๆ
ถ้าเราย้อนไปปลื้มชาติที่แล้วได้จะดีมากเลย จะได้นึกเมื่อชาติที่แล้วเราก็ทำความดีตรงนี้อยู่
เมื่อชาติโน้นเราก็ทำความดีตรงนี้ คงจะปลื้มน่าดู
เพราะฉะนั้นต้องไปเข้าถึงธรรมให้ได้จะได้ไประลึกชาติ
จะได้ปลื้มต่อเนื่อง โอวาทต่อมาท่านบอกว่า
“ทำบุญให้ปลื้ม ” เราใช้บุญเก่าทุกวัน
บุญก็จะหมดลงไปเรื่อย ๆ เหตุนี้จึงมีคำว่า บุญหมด ก็หมดสิทธิ์ใช้ทุกสิ่ง
เพราะฉะนั้นเราต้องสั่งสมบุญเอาไว้มาก ๆ
และต้องรู้สึกปลื้มปีติด้วย หากยังไม่ปลื้ม
ก็ทำอีกจนกระทั่งรู้สึกปลื้มให้ได้
เพราะความปลื้มทำให้เกิดปัสสัทธิ (ความสงบกายสงบใจ) เกิดขึ้น และ ปัสสัทธิ ทำสมาธิให้เกิด เราใช้บุญเก่าทุกวัน การทำบุญจนเกิดความปลื้มปีติ
เป็นการทำที่ถูกหลักวิชชา เพราะหากปลื้มมาก ปีติมาก จะมีผลทำให้บุญส่งผลเร็ว
หากปลื้มแล้วยังตามนึกถึงบุญได้อย่างบ่อยครั้งมากเท่าไหร่ก็จะมีผลต่อจำนวนชาติที่ส่งผลได้มากชาติขึ้นเท่านั้น
การปลื้มเกิดได้จาก.... การทำบุญอย่างสุดกำลัง
ตัดใจจากความตระหนี่ ที่ตัดได้ยากหรือนึกถึงความดีที่ทำได้ยาก
เช่นนั่งสมาธิทุกวันไม่ขาดแม้วันเดียว หรือปีติที่เกิดจากสมาธิ
ทำบุญแล้วปลื้มยังเป็นต้นบุญต้นแบบให้กับคนรอบข้าง เราจะพูดให้เขาฟังอย่างองอาจ
ซึ่งจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ได้ฟัง เพราะถ้อยคำที่มาจากการกระทำที่แท้จริง
จะมีพลังไม่มีที่สิ้นสุด ใครก็ตามถ้าได้ฟังจะเกิด แรงบันดาลใจอยากทำบ้าง
เราก็จะอยู่ในฐานะเป็นต้นบุญ และเราจะได้บุญเต็มที่ไม่ตกหล่น แสดงว่าความปลื้มสำคัญมาก
ๆ เลย
เคยไหม? ที่ทำบุญแล้วไม่ปลื้ม
อะไรคือสาเหตุ ที่ทำให้เราทำบุญ ทำความดีแล้วไม่ปลื้มบ้าง แล้วทำอย่างไรให้ปลื้ม …พระอาจารย์ก็ไม่รู้เหมือนกันนะ
ก็เลยไปโพสต์ในเฟสบุ๊ค ถามสมาชิกเพื่อนในเฟสบุ๊ค ว่าใครมีวิธีการดีๆบ้าง
หรือใครเคยประสบปัญหานี้บ้างว่า... ทำบุญแล้วไม่ปลื้ม...
รู้ไหมว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ...แล้วมีวิธีการแก้อย่างไรไปโพสต์มาเมื่อวานนี้เอง
แล้วมีผู้ที่เข้าคอมเมนต์หลายคนเลย วันนี้ก็จะมาแบ่งปันให้กับพวกเราทุกคนได้ฟังว่า
แต่ละคนมีประสบการณ์อย่างไรบ้าง มาดูคนแรก
โยมท่านหนึ่งบอกว่า
ปลื้มเวลาที่มีความตั้งใจอย่างมากกับบุญนั้นๆ
ตั้งใจและเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความสำคัญของบุญนั้นๆ ตั้งแต่ความคิดที่จะทำ
ตอนเตรียมตัว เตรียมงาน หรือเตรียมปัจจัย
ตอนรอคอยเวลาที่จะทำไปจนถึงตอนทำให้สำเร็จ
ไม่ว่าบุญนั้นจะใช้ปัจจัยหรือใช้แรงกายก็ตาม
ถ้าคิดแบบนี้ก็จะมีความปลื้มจนขนลุกเลยคะ
โยมท่านที่สอง บอกความไม่ปลื้มสามารถเกิดขึ้นได้ทั้ง
3 ระยะ
1.ไม่ปลื้มระยะก่อนทำคือ เขาบอกว่าเขาเคยไม่ปลื้มก่อนทำเพราะรู้สึกว่าแอนตี้หรือปฏิเสธความไว้ใจสำหรับการมาบอกบุญหรือการทำหน้าที่ของบุคคลที่มาชวน
คือเราไม่ศรัทธาคนที่มาชวน แต่เราก็ทำ แต่ไม่ปลื้ม
2.ไม่ปลื้มขณะทำ จะอยู่ในส่วนของรับบุญ
ต้องทำงานร่วมกันเกิดการล้ำเส้น กระทบกระทั่งกันด้วยกาย วาจา ใจ แต่ก่อนทำ
ก่อนรับบุญจะปลื้มดีใจที่ได้ทำ พอทำมาแล้วหลังทำก็ยังปลื้มอยู่
แต่ตอนทำอาจจะไม่ได้ปลื้มมาก เพราะว่าเกิดการกระทบกระทั่ง
3.ไม่ปลื้มหลังทำ คือทำไปแล้วเกิดความคาดหวังในทุกด้านและคิดเองเออเอง
น้อยใจในตัวบุคคลหรือผลที่ไม่ได้อย่างใจ
ต่อมาโยมท่านที่สาม บอกว่า ทำบุญที่เราได้ตั้งใจทำทั้ง ก่อนทำ ขณะทำ
และหลังทำ เช่นช่วงปีใหม่ชวนคนมาวัดหลายๆกลุ่ม ช่วยดูแลก่อนเขามาอยู่ในวัด
ซึ่งเหนื่อย ...นอนน้อย วิ่งไปวิ่งมา ข้าวปลาไม่ได้กิน แต่ได้เห็นคนที่มามีความสุข
กินอิ่ม ปลื้มใจที่เขามาแล้วประทับใจ แค่นี้เราก็ปลื้มจนน้ำตาคลอแล้วเจ้าค่ะ
ต่อมาโยมท่านที่สี่ บอกว่า
แยกมาเป็น ทาน ศีล ภาวนา มาดูเรื่องการทำทานบอกว่า ทำทานแล้วไม่ปลื้ม เพราะ
คาดหวังผลตอบแทนมากเกินไปและไม่ได้ดั่งใจ ไม่ได้ดังหวัง นานๆสักครั้ง
ก่อนทำก็คิดแล้วคิดอีก ทำแบบเจียดปัจจัยทำ ไม่ได้ทำเต็มที่ และช่วงนั้นความตระหนี่ยังครอบงำใจมาก
แก้โดยการทำบ่อยๆ ทำเต็มที่ ปลื้มไม่ปลื้มก็ทำ ไม่ได้ผลก็ช่าง อารมณ์จะค่อยๆเปลี่ยนไป อนุโมทนาบุญบ่อยๆ เดี๋ยวก็ชิน
แล้วก็จะปลื้มเอง
ศีล ต้องลงมือทำทันที
เพราะใครทำให้ไม่ได้จริงๆ โดยดูผลเสียจากการไม่มีศีลว่านำปัญหามาให้เราแค่ไหน
โดยเริ่มจากข้อง่าย ๆ ไปหาข้อยาก ๆ เวลาเจออุปสรรคเช่น เพื่อนล้อเลียน
ไม่คบก็อย่าหวั่นไหว เพราะศีลกำลังดึงดูดเพื่อนที่ดี เพื่อนที่มีศีลมาหา อดทนไป
พอทำได้กายจะเบา ใจจะเบา นั่งธรรมะก็ดีขึ้น ปัญหาชีวิตก็น้อย คนรอบข้างก็ดีขึ้นคุ้มต่อการลงทุน
คือตอนแรกอาจจะไม่ได้รู้สึกปลื้มมาก
เหมือนคนมาวัด เรามีเพื่อนที่ไม่ได้มาวัดหรือว่ามีศีลไม่เสมอกัน
พอเห็นเรารักษาศีลใส่ชุดขาว บางทีก็มีคนล้อว่าเป็นแม่ชีบ้าง
แม่ชีวันนี้ไม่ไปวัดเหรอ พระอาจารย์ก็เคยเห็นน้อง ๆ อาสาสมัครที่มาช่วยรับบุญ
เขาก็โพสต์เฟสบุ๊คเวลาที่เขามาทำกิจกรรมความดี ก็จะมีเพื่อนๆเขามาแซว
เป็นอย่างไรบ้างแม่ชี ก็มีบ้างมากระทบกระทั่ง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องใช้ความอดทน
ตอนแรกก็อาจจะไม่ค่อยปลื้มมาก แต่ทำไปแล้วเดี๋ยวก็จะดีเอง
นั่งสมาธิ
นึกถึงว่า ใครๆในโลกสรรเสริญสมาธิว่าดีก็นั่งเลย ทรมานแค่ไหนก็อดทน
เพราะมันไม่มีค่าใช้จ่าย แม้จะทรมานในการนั่ง แต่หลังจากนั้นก็เริ่มเห็นผลคือ
ใจเบา อุปสรรคในชีวิตก็น้อยลง ศัตรูทำอะไรเราไม่ได้ แก้ปัญหาต่างๆได้ดีกว่า
แม้จะรักการนั่งแต่ติดฟุ้งและนั่งเครียดกว่า 10 ปี พอนั่งสบายได้
ตอนนี้ติดขี้เกียจนั่งเพราะเหนื่อย กำลังแก้ไขอยู่
สมาธิมีอุปสรรคเยอะแต่คุ้มค่าต่อการลงทุนมากๆ
ท่านต่อมา บอกว่าที่ทำแล้วปลื้มคือเห็นความสำคัญของบุญนั้นๆ
มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า จะปลื้มมากๆ สำเร็จง่ายๆ แต่ไม่ปลื้มก็คือ ถูกกำหนดตัวเลขว่าต้องทำเท่านั้น
เท่านี้ ถ้ายังไม่ปลื้มมากก็ทำตามกำลัง ยังไม่เต็มกำลังค่ะ
ความปลื้มจะเกิดขึ้นเองจะบังคับให้ปลื้มไม่ได้ ทำ 1 บาท แต่ก็ปลื้มเป็นล้าน
ความอัศจรรย์ก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน
มาดูคนสุดท้าย บอกว่าทำบุญทั้ง
ทาน ศีล ภาวนา หรือทำงานเพื่อหวังผล แล้วเราผิดหวังคือ
ไม่ได้ดั่งที่คิดหรือตั้งใจไว้ก็จะโทษผู้อื่น สิ่งอื่นโทษบุญไม่ช่วย
วิธีแก้ง่ายสุด แต่ทำยากสุดคือ ไม่คาดหวัง ทำด้วยใจบริสุทธิ์ ด้วยใจเมตตา ด้วยความปรารถนาดี
ฯลฯ สรุป
ทำดีที่สุดของเราแล้วผลที่เกิด หรือได้รับอะไร จะดีหรือไม่ดีแค่ไหน ให้คิดปลื้มว่า
เราได้ทำดีแล้ว ส่วนเรื่องอื่นก็เป็นบุญของเขา เรื่องของเราคือเราได้บุญแล้ว
แล้วเรานั่นแหละที่จะมีความสุขจนทำให้เขาสงสัย
สรุปสาเหตุ
ที่ทำให้เราทำบุญ ทำความดี แล้วไม่ปลื้ม
1.มีความคาดหวังกับผลลัพธ์มากเกินไป
2.ทำน้อยกว่าศรัทธาที่มี - มีความคาดหวังกับผลลัพธ์มากเกินไป
จริง ๆ ความคาดหวังไม่ใช่สิ่งที่ผิด
แต่อย่างที่บอกว่า ถ้าเราหวังผิดเราก็ผิดหวัง
เพราะฉะนั้นถ้าเราจะคาดหวังเราต้องดูให้ดีว่าความคาดหวังของเรามันอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
ถ้าเป็นความคาดหวังที่มันมากเกินไปมันก็จะทำให้เราผิดหวังได้ เคยได้ยินคำว่าทำบุญหวังผลไหม
แล้วก็จะมีคนบอกว่าเราเป็นพวกทำบุญหวังผล ไม่ได้บุญหรอก จริงๆได้ไหม ...แล้วผิดไหมทำบุญหวังผล
ต้องดูก่อนว่า
คำว่าทำบุญหวังผล หวังผลแบบไหน หวังผลด้านไหน ถ้าหวังผลด้านที่ไม่ดีมันก็จะกลายเป็นเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์
มันอาจก็ทำให้เราได้บุญน้อยลง แต่ถ้าเราหวังในสิ่งที่ดี
และประกอบด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์มันก็เป็นบุญเป็นความดีไม่ใช่เรื่องผิดอะไร
ถ้าเรามองกว้างๆไม่ได้มองถึงเรื่องของบุญ
เราทำอะไรเราก็หวังผล เราตั้งใจเรียนหนังสือ
เราหวังว่าเราจะได้สอบผ่านก็เรียกว่าหวังผล แล้วผิดไหม ก็ไม่ผิด ก็มันเป็นเป้าหมายที่ตั้งใจจะไปให้ถึง
ถ้าเราไม่มีเป้าหมายเลยแล้วเราก็เรียนไปวัน ๆ ให้รู้ว่าวันนี้ฉันจะตั้งใจเรียน
ฉันจะเป็นคนดี เพื่อฉันจะได้เรียนหนังสือเก่ง จะได้มีหน้าที่การงานที่ดี
อย่างนี้ก็เป็นผลที่ดี
เหมือนเราไปช่วยคนที่กำลังเดือดร้อนอยู่เราก็หวังผลไหม
หวังให้เขาพ้นจากความทุกข์ เขามีความทุกข์อยู่แล้ว เราไปช่วยเขาให้พ้นจากทุกข์
เราก็คาดหวังว่าให้เขาพ้นจากทุกข์
แต่เราไม่ได้คาดหวังว่าวันหนึ่งเขาจะต้องมาตอบแทนเราคืน เพราะฉะนั้นการพูดว่าที่ทำบุญเพื่อหวังผลมันสั้นไป
ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าถูกหรือผิด ต้องดูด้วยว่าผลที่เราหวังเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์หรือไม่
มันเป็นไปได้ไหม
ถ้าเกิดจากเจตนาไม่บริสุทธิ์ก็แสดงว่าการทำบุญหวังผลนั้นไม่ดี
อานิสงส์ก็น้อย ถามว่าได้บุญไหม...( ได้ )... แต่จะได้บุญแบบที่ไม่บริสุทธิ์
ได้ไม่เต็มที่ เหมือนที่เราไปทำทาน ทำเพื่อชื่อเสียง ทำเพื่อหน้าตาทางสังคม อย่างนี้เจตนาก็เริ่มไม่บริสุทธิ์
ก็จะได้บุญนิดหน่อย
- ทำน้อยกว่าศรัทธาที่มี ความศรัทธาความตั้งมั่นมีมาก
แต่อาจจะเป็นเพราะว่าความขี้เกียจ ความตระหนี่ ข้ออ้างข้อแม้เงื่อนไข
ก็เลยทำให้เราทำไม่เต็มที่เหมือนที่เราศรัทธาจริงๆ
ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่เราเองจะรู้ตัวเราเอง
เพราะฉะนั้นถ้าหากเราทำบุญแล้วไม่ปลื้มเราก็สามารถใช้ตัวนี้เป็นตัวตรวจสอบได้ว่าจริง
ๆ เราตั้งใจทำจริง ๆ แค่ไหน
แต่ที่เราไม่ปลื้มเพราะว่าเราทำน้อยกว่าที่เราตั้งใจไว้หรือเปล่า ตัวอย่างเช่น วันนี้ตั้งใจจะรักษาศีล 8 แต่หิวเหลือเกินเลย รู้สึกหิวมากเลย ทำอย่างไรดี
เราอาราธนาศีล 5 ก็แล้วกัน เราก็ไปหาอะไรกิน
แต่เมื่อตอนเช้ามีความปรารถนาว่าวันนี้วันพระมีศรัทธาตั้งมั่น
วันนี้วันพระใหญ่จะรักษาศีล 8 จะตั้งใจรักษาศีลให้ดี แต่ตอนเย็นกิเลส
ความหิวเข้าครอบงำไม่เป็นไร ขอไปกินอะไรก่อนดีกว่าเราก็รักษาศีล 5 ใหม่
อย่างนี้เรียกว่าทำน้อยกว่าศรัทธาที่มี มันก็อาจจะทำให้เราอาจจะไม่ปลื้มกับศีลที่เรารักษาวันนี้ก็ได้
เป็นต้น
หรือนั่งสมาธิ
มีความตั้งใจตั้งมั่นว่าวันนี้จะนั่ง 1 ชั่วโมง
แต่พอถึงเวลาวันนี้ฟังธรรมมานั่งก็นานแล้ว เดินทางกลับบ้านก็ไกล 1
ชั่วโมงก็นานไปขอแค่ 10 นาที ยกยอดไปวันต่อไป
อย่างนี้ก็เรียกว่าทำน้อยกว่าศรัทธาที่มี ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องทานอย่างเดียว
ใช้ได้กับทุกเรื่อง หรือเราทำงานพระศาสนามีศรัทธาตั้งใจมาก
จะทำไม่ทำแต่บางทีก็ถูกความขี้เกียจ เบื่อหน่ายเซ็งกลุ้ม ความไม่พอใจ
กิเลสในตัวเรานิสัยเดิม ๆ เราก็มาตัดรอน ทำให้เราทำไม่เต็มที่อย่างที่เราตั้งใจ อันนี้ก็ถือว่าเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง
สาเหตุต่อ
อันนี้เกิดขึ้นบ่อย เขาบอกว่า ....- เกิดจากการทำในสิ่งที่ซ้ำ ๆ กันเป็นปกติจนชิน จึงไม่เกิดความรู้สึกพิเศษใด ๆ ไม่ใช่ไม่ปลื้มนะ
แต่มันรู้สึกไม่ปลื้มเหมือนที่เคยปลื้ม มันกลายเป็นความรู้สึกเฉย ๆ
เพราะเราทำจนชิน
อุปมาเหมือนราชา มหากษัตริย์
หรือคหบดี มหาเศรษฐี ที่ได้รับการบำรุงบำเรอด้วยอาหารที่จัดแต่งประณีต
มีรสเลิศทุกมื้อจนเป็นเรื่องธรรมดา อาภรณ์เครื่องนุ่งห่มมีเนื้อละเอียด แบบทันสมัย
ใช้ตราสินค้าที่หรูหราเป็นธรรมดา ที่อยู่อาศัยก็เหมือนคฤหาสน์ ปราสาท ราชวัง
โรงแรมระดับ 5 ดาวเป็นปกติธรรมดา ได้ชมการแสดงฟังดนตรีชั้นเลิศเป็นประจำ
ใช้ยานพาหนะ ยนตรกรรมชั้นเลิศราคาแพง ก็จึงรู้สึกชินชาไม่มีความสุขกับคฤหาสน์หลังใหญ่
ไม่มีความสุขกับอาหารชั้นดี เสื้อผ้าชั้นเลิศ ไม่มีความสุขเพราะอยู่จนชิน คุ้นเคย
อะไรที่เป็นครั้งแรกย่อมพิเศษเสมอ
ครั้งต่อมาก็มักคุ้นเคยไม่รู้สึกพิเศษเท่ากับครั้งแรก
เหมือนใครมางานวันมาฆบูชาครั้งแรกของวัดพระธรรมกาย จะรู้สึกตื่นตาตื่นใจ
ตื่นเต้นปลื้มมากเป็นพิเศษเหมือนตอนที่พระอาจารย์มาเป็นครั้งแรก ปี พ.ศ. 2548
มาเป็นอาสาสมัคร เป็นความรู้สึกที่ไม่เคยเจอมาก่อน วัดใหญ่มาก คนเยอะมาก
และเราก็รู้สึกว่าไม่เคยเจอคนแบบนี้มาก่อน คนที่เดินไปเดินมาก็ยกมือสาธุ ๆ
เอาบุญมาฝากสาธุ ๆ ยิ้มแย้มแจ่มใส เราไม่เคยอยู่ในบรรยากาศอย่างนี้มาก่อนเรารู้สึกแปลกใหม่มาก
ได้ไปร่วมกิจกรรมรู้สึกปลื้มมาก พอเขาเห็นเราเริ่มปลื้มเขาก็ชวนเราบวช
แต่ตอนนั้นไม่ได้บวช มาบวชปี พ.ศ. 2549 ผ่านไป 1
ปีความปลื้มยังหล่อเลี้ยงอยู่จึงทำให้ได้มาบวช
นี่คือความรู้สึกที่เราคุ้นจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา
แต่ก็มีบางสิ่งที่ทำซ้ำ
ๆ มายาวนานแต่ก็ไม่รู้สึกเบื่อ ไม่ได้รู้สึกคุ้นชิน แต่รู้สึกปลื้มตลอด ยกตัวอย่างเช่น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทำสิ่งเดิม ๆ สร้างบารมี 10 ทัศเรื่องเดิม
พระองค์ทำแล้วทำอีก ยาวนาน 20 อสงขัย แสนมหากัป ไม่ได้ทำให้ท่านเบื่อเลย แสดงว่าจะต้องมีอะไรมากกว่านั้น
ที่ทำให้บางอย่างที่ทำแล้วก็ไม่ได้รู้สึกเบื่อ ตรงข้ามกลับอยากทำให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
- ไม่เข้าใจ หรือไม่เห็น คุณค่า ความสำคัญของบุญ
หรือสิ่งที่ทำ อย่างลึกซึ้ง บางทีก็เข้าใจก็รู้ว่าสำคัญ แต่มันไม่ลึกซึ้ง
ความลึกซึ้ง ความลุ่มลึกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เหมือนพิธีกร มาทำหน้าที่
มาทำเพราะอยากทำ เห็นความสำคัญ อย่างลึกซึ้งหรือว่ามาทำเพราะว่าเขาสั่งให้ทำ
ก็จะไม่เหมือนกัน แต่ว่าต้องมาทำ
แต่ความรู้สึกปลื้มในการมาทำหน้าที่ก็อาจจะไม่เหมือนกัน
พอเราทำสิ่งนี้ไม่ได้มันจะเกิดข้อนี้ต่อมาก็คือ
-
ทำเพราะเป็นหน้าที่ ทำจนเป็นหน้าที่ของเรา มาทำหน้าที่พิธีกร หน้าที่ช่างภาพ
มาเพราะว่าเป็นหน้าที่ของเรา เราต้องมา ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เลย แต่จะให้ดีกว่านั้นต้องเพิ่มเติม ก็คือ
ต้องให้เห็นถึงคุณค่า และความสำคัญของสิ่งที่เราทำอย่างลึกซึ้ง
ถ้าอย่างนี้ถือว่าใช้ได้ จึงมาให้เห็น คำ 2 คำนี้ คือคำว่า
คุณค่า
หรือ หน้าที่ ถามตัวเองนะมาฟังธรรมในโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา
มาเพราะเห็นคุณค่า หรือมาเพราะหน้าที่ มาเพราะเห็นคุณค่าได้บุญ มาเพราะหน้าที่ก็ได้บุญ
แต่ไม่เท่ากัน แต่ถ้าได้ทั้งคุณค่าและหน้าที่เป็นอย่างไรก็จะบริบูรณ์
เขาบอกว่าถ้าเราทำเพราะเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ เราก็จะได้สิ่งที่มีคุณค่ากลับมา เมื่อไหร่ที่เราทำด้วยคุณค่า
เราจะไม่มีเส้นแบ่งว่าแค่ไหนพอ
เมื่อทำตามหน้าที่ เขาจะไม่ทำนอกเหนือหน้าที่
เพราะหน้าที่จะมีขอบเขตที่ชัดเจน แต่คุณค่ามักจะไม่มีขอบเขต
ยิ่งทำมากยิ่งมีคุณค่ามาก อันนี้ใช้เป็นตัวชี้วัดเลย
ไม่ทำมากกว่านี้ ก็คือ ก็หน้าที่ฉันมีแค่นี้ จะให้ฉันทำมากกว่านี้ได้ไง ไม่ทำหรอก
อันนี้แสดงว่าเริ่มทำตามหน้าที่ แต่ถ้าเราทำเพราะเห็นคุณค่า
จะไม่มีขอบเขตเลยว่าแค่ไหนคือยิ่งปลื้มก็ยิ่งทำ ยิ่งเห็นคุณค่าก็ยิ่งอยากทำ
เขาไม่ให้ทำก็ขอทำหน่อยเถอะ อยากทำ อย่างนี้ มันจะไม่มีเส้นแบ่งเลย
เราจะมีความรู้สึกว่าอยากทำยิ่งๆขึ้นไป อย่างเช่นโยมที่มาทำหน้าที่พิธีกร
เขาบอกว่าอาทิตย์หนึ่งมา 2 ครั้งนะ ผมรู้สึกว่าปลื้มกับการทำหน้าที่นี้มากเลย ผมขอ
4 ครั้งได้ไหม อย่างนี้แสดงว่าเริ่มทำเพราะความปลื้มและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ
เพราะฉะนั้นเราก็มาย้อนดูว่า
ที่เรามาสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรกันทุกวัน
ทำเพราะเห็นคุณค่าหรือทำเพราะหน้าที่
ความรู้สึกจะไม่เหมือนกัน ถ้าทำเพราะหน้าที่ก็ ได้รับเป้ามาแล้ว วันละ 3
จบไปสวดหน่อยก็แล้วกันเดี๋ยวเขาจะว่าเอา ก็ได้บุญไม่ใช่จะไม่ได้
แต่จะไม่ได้เท่ากับการทำเพราะเห็นคุณค่า พอทำแล้วเห็นคุณค่าไม่พอหรอก 3 จบน้อยไป
สวดไปเลย 9 จบ อันนี้ทำเพระเห็นคุณค่า
ตักบาตรทำเพราะเห็นค่าหรือทำเพราะหน้าที่
ต้องถามตัวเองนะ แรกๆอาจจะทำเพราะเห็นคุณค่านะ แต่ถ้าเราไม่หมั่นย้ำเตือนบ่อยๆ
มันก็รู้ว่าต้องทำ ทำจนชินแล้ว แต่ความเห็นคุณค่าอาจจะค่อยๆน้อยลงก็ได้นะ
ค่อยกลายเป็นหน้าที่ไปแล้ว เพราะฉะนั้นต้องเช็คความปลื้มกันบ่อยๆว่าทำทุกครั้ง
ปลื้มทุกครั้งหรือไม่
ถ้าความปลื้มนั้นยังคงอยู่
อยากทำให้ยิ่งๆขึ้นไป แสดงว่าเรายังเห็นคุณค่าอยู่
เห็นประโยชน์จากสิ่งที่เราตั้งใจอยากจะทำ
เหมือนเด็กน้อยที่มาสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ทำเพราะเห็นคุณค่า หรือหน้าที่
ไม่รู้เหมือนกัน หรือว่าพ่อแม่มาไม่รู้จะอยู่บ้านทำไม ก็ต้องมาด้วย
ทีนี้พอเราทำเพราะเห็นคุณค่า
ใครสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรได้บ้าง ใครสวดไม่ต้องดู
ไม่ต้องฟังแต่สวดเองได้บ้างมันก็ได้อีกระดับหนึ่ง
แล้วใครสวดไปแล้วสามารถรู้บ้างว่าที่เราสวดไปแปลว่าอะไร ความลุ่มลึกจะต่างกัน
บางคนมาสวดเพราะว่าเป็นหน้าที่ มาสวดเพราะเห็นคุณค่าก็สวดหลายจบ
แต่บางคนสวดไปก็มีความตั้งใจว่าฉันจะต้องสวดให้ได้ จะต้องจำให้ได้
แม้ไม่มีเสียงเปิด หรือไม่มีใครมาสวด หรือไม่ดูหนังสือฉันก็สวดได้
มันก็พัฒนาความปลื้มไปได้อีกระดับหนึ่ง
พอทำไปแล้วเริ่มไม่ปลื้ม
ก็ต้องข้าม Up Level ไปเริ่มดื้อยาแล้วเริ่มไม่ปลื้มทำอย่างไร
ก็ไปให้เราลึกซึ้งกว่าเดิมไปดูว่าที่เราสวดแปลว่าอะไร มีความหมายอย่างไร
อย่างนี้จะเพิ่มความรู้สึกว่าอยากทำเรื่อยๆ แต่ถ้าเราไม่ทำจะรู้สึกว่าจาก 9 เหลือ
5 เหลือ 7 เหลือ 3 เหลือ 2 เหลือ 1 แล้วก็เริ่ม 2 วัน 1 ครั้ง
เริ่มถอยหลังไม่มีการพัฒนา ถ้าทำแบบพระพุทธเจ้าทำแล้วต้องพัฒนาและสั่งสม
ต้องลุ่มลึกยิ่งขึ้นไป
หรือมาบูชาเจดีย์
บางคนมาบูชาเจดีย์คิดว่าความปลื้มเท่ากันไหม ความปลื้มไม่เท่ากัน
เพราะแต่ละคนจะเห็นคุณค่าการมาบูชาเจดีย์ไม่เท่ากัน …หรือเวียนประทักษิณรอบพระมหาธรรมกายเจดีย์ พระอาจารย์ก็ไปเดินบ่อย
เมื่อวานก็ไปเดินมา เอาบุญมาฝากนะ
นี่ก็คิดว่าเทศน์จบแล้วก็จะไปอีกวันนี้วันพระด้วยจะไปเวียนประทักษิณ
กำลังคิดให้ตัวเองทำแล้วต้องให้ปลื้ม ยิ่งทำต้องยิ่งปลื้ม
คราวนี้พอเริ่มเดินๆไปแล้วก็หากุศโลบายว่าทำอย่างไรให้ปลื้ม
แล้วนึกถึงบุญได้ดีกว่าเดิม เมื่อวานพระอาจารย์ก็เลยลองเดินและก็นับไปด้วย
นับว่าการเดินรอบพระมหาธรรมกายเจดีย์ 1 รอบกี่ก้าว
ลองดูนะแต่พระอาจารย์ไม่ได้นับรอบเจดีย์นะ เพราะต้องสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรไปด้วย
นับแค่ 1 ส่วน 4 แล้วก็คูณ 4 ก็เท่ากับ 1 รอบก็จะเฉลี่ยประมาณนั้นนับได้ 1,280 ก้าว
ความปลื้มมันต่างกันนะ เดินตั้ง 1,000 กว่าก้าวเลย
ความปลื้มไม่เหมือนเดิม
เมื่อวานพระอาจารย์ไปถามโยมกำลังนั่งอยู่บอกว่าจะไปเวียนประทักษิณ
ก็เลยถามโยมว่า ทำไมโยมมาเวียนประทักษิณทุกวัน เขาบอกว่าเขาเวียนประทักษิณทีไรใจเขาทะลุไปถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อยู่ด้านใน
ที่เป็นองค์สีเงิน ใครมาทันสร้างบ้าง พระอาจารย์ก็มาทันตอนนั้นเป็นนักศึกษา
มาวัดครั้งแรกได้มีโอกาสร่วมบุญ เขาบอกว่าเขามองทะลุไปถึงองค์พระภายใน
แล้วก็มีอีกคนบอกว่า
เขาปลื้มมากตอนที่ทำบุญแสนปลื้ม ตอนที่จะปิดเจดีย์
เขารู้สึกเขามีส่วนร่วมทุกองค์ ทุกบุญเลย เขามาเดินเขาก็นึกถึงพระพุทธรูปที่อยู่บนเจดีย์
ทั้งแสนองค์ที่เขามีส่วนร่วมในบุญตลอดเลย เขาก็เลยปลื้ม
พอเราได้ฟังแต่ละคนเล่า
บางทีเราก็ไม่ได้คิดในมุมมองนั้นๆ เพราะฉะนั้นเราลองดูว่าแต่ละคนมีกุศโลบายในการสั่งสมบุญอย่างไร
มันจะเพิ่มคุณค่าและทับทวีบุญในตัวเราและความปลื้ม
สมมติว่าเริ่มทำบุญแล้วไม่ปลื้มเราถามคนอื่นเลย
ที่เขาทำเรื่องนี้บ่อยๆ ไปถามว่าทำไมเขามีกำลังใจทำเรื่องนี้บ่อยๆ
แสดงว่าเขาต้องมีเทคนิคที่ดี เราก็เรียนรู้จากเขานี่แหละ
แล้วเราก็มาปรับใช้เป็นของเราให้ได้ มันก็จะทำให้เราทำแล้ว เรามีความปลื้ม
หรือการมาคัดหินเกล็ด
ใครมาคัดหินเกล็ดแล้วบ้าง มาคัดบางคนก็นับเป็นวันว่าไปคัดมาแล้วกี่ครั้ง
มีใครเคยนับบ้างว่าคัดไปแล้วกี่เม็ด เคยไหม
มันก็เป็นกุศโลบายว่านับเม็ดหนึ่งๆว่าชาติหนึ่งที่เราเกิดมาสร้างบารมีทุกภพทุกชาติ
ทำไปแล้วยิ่งปลื้ม เราก็ต้องหาวิธี มันก็ต้องถามแล้วว่าที่มาคัดทำเพราะเห็นคุณค่าหรือเพราะเป็นหน้าหน้าที่ ถ้าไม่ไปเดี๋ยวตกเทรน เขาไปกันหมดแล้วเรายังไม่ได้ไป
ไม่รู้จะคุยกับเขาอย่างไรต้องไปซะหน่อย อย่างนี้ก็ได้ระดับหน้าที่นะ
รู้สึกมีหน้าที่ต้องไปทำ แต่ถ้าทำเพราะความปลื้ม
เพราะเห็นคุณค่าเดี๋ยวจะทำอีกแบบหนึ่งจะเกิดวิธีการต่าง ๆ มากมาย
แล้วเราจะเป็นต้นบุญต้นแบบให้กับคนอื่นนะ
หรือการรักษาศีล
เพราะหน้าที่หรือเพราะเห็นคุณค่า ต่างกันไหม ต่างกัน
อย่างน้องอุบาสกผมมาอยู่วัดเขาบังคับให้รักษาศีล 8 ก็ถือว่าหน้าที่
แต่ว่าเห็นคุณค่าไหม ก็ต้องถามน้องเองว่าเราเห็นคุณค่าในการรักษาศีล 8 มากน้อยแค่ไหน
การจะเห็นคุณค่าจะต้องมองให้เห็นตลอดสาย เช่น
ถ้าเราผิดศีลจะเกิดอะไรขึ้น สมมติว่าเราผิดศีล ข้อ 1 การเบียดเบียนผู้อื่น
เราก็ต้องมองให้เห็นว่าการที่เรารักษาศีลได้ วันนี้เราไม่เบียดเบียนใคร วันนี้คนที่มาวัดทุกคนรู้สึกปลอดภัยในชีวิต
เพราะเราไม่เบียดเบียนใคร
แต่ถ้าเราจะผิดศีลไปตบหัวใครเราก็ทำได้
แต่จะเกิดโทษและผลเสียต่อคนที่มาวัด เราได้สร้างความปลอดภัยในชีวิตให้กับคนในวัดเป็นพัน
เป็นหมื่นคน วันนี้เราได้สร้างความปลอดภัยในทรัพย์สินกับทุกคนในวัด ไปบูชาเจดีย์ พระอาจารย์เห็นกระเป๋าวางเต็มเลย
ถ้าพระอาจารย์เดินไปหยิบกระเป๋าหนึ่ง ไม่มีใครรู้หรอก
แต่ทุกคนที่มาวางเพราะเขารู้สึกว่าไม่น่าหายหรอกเพราะทุกคนมาสั่งสมบุญและความดี
เมื่อวานพระอาจารย์ก็ลองวางดูบ้างขี้เกียจถือกลับมาก็ยังอยู่ เกิดความรู้สึกว่าอยู่วัดเราปลอดภัย
คนยืนกันเป็นร้อย เราวางของก็ไม่หาย เราได้สร้างความปลอดภัยให้กับเพื่อนมนุษย์
วันนี้เราได้พูดดีเราไม่ได้โกหกใคร
เราได้สร้างความจริงและความเชื่อใจให้กับเพื่อนมนุษย์
พอเรามองแบบนี้เราก็จะมีความสุข วันนี้เราไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร
เราไม่ได้ไปลักทรัพย์ใครเราจะเกิดความปลื้มในสิ่งที่เราทำ เพราะเราเริ่มพิจารณาและเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ
การนั่งสมาธิ
นั่งเพราะเห็นคุณค่าหรือเพราะเป็นหน้าที่และความปลื้มจะต่างกัน ….การทำหน้าเป็นกัลยาณมิตรชักชวนคนทำความดีทำเพราะเห็นคุณค่าหรือทำเพราะหน้าที่
บุญได้ไม่เท่ากันนะ …การมาฟังธรรมในวันนี้
มาเพราะเห็นคุณค่าหรือมาเพราะหน้าที่
ใครมาฟังธรรมในโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาต่อเนื่องไม่เคยขาดบ้าง บุญจะทับทวีเลย
พระอาจารย์มาแสดงธรรม
คิดว่ามาเพราะเห็นคุณค่าหรือเพราะหน้าที่ ปลื้มทุกครั้งที่ได้มาแสดงธรรม
อยากให้ธรรมทาน จริงๆทุกครั้งที่พระอาจารย์มาแสดงธรรม สิ่งที่รู้สึกได้มากที่สุดคือได้กับตัวเอง
เพราะทุกครั้งต้องค้นคว้าหาความรู้ คนที่ได้ความมากที่สุดก็คือผู้เทศน์
ถ้าไม่มาเทศน์ก็ไม่รู้ว่าจะไปพูดให้ใครฟัง
อันนี้สำคัญมากว่าทำไมเราทำบุญแล้วไม่ปลื้ม
เพราะว่าเรา.. –
ยังไม่เข้าถึงสภาวธรรมอันประณีต ยังไม่เห็นดวงบุญ
ทำบุญเรายังไม่เคยเห็นดวงบุญที่ตนเองกระทำทั้งกาย วาจา ใจ ในช่วง ก่อนทำ ขณะทำ
หลังจากทำแล้ว พอไม่เห็นดวงบุญเพราะยังไม่มีธรรมจักษุ มันก็เลยไม่ปลื้ม
ลองคิดดูภาพถ้าเรานั่งสมาธิแล้วสามารถเข้าถึงธรรม พอเราทำบุญเราก็เห็นดวงบุญสว่าง
เห็นวิมานของเราสว่าง บริวารของเรารัศมีสว่างไสว คิดว่าจะปลื้มไหม ปลื้มแน่นอน
แต่เรายังไปไม่ถึงตอนนั้น
เพราะฉะนั้นการจะปฏิบัติธรรม
การทำใจของเราให้ละเอียดจะเป็นตัวบ่งบอกว่าความปลื้มของเราก็จะเพิ่มขึ้นด้วย
ถ้าเราทำบุญแล้วไม่ปลื้ม สาเหตุหนึ่งให้เราพิจารณาตอนนี้ใจเราเริ่มหยาบ
ใจเราไม่ละเอียด
ถ้าเราปฏิบัติธรรมมากๆ
เข้าถึงความละเอียดภายในใจมากๆ เดี๋ยวเราจะรู้สึกเปลี่ยนไป
จะค่อยๆปลื้มในสิ่งที่เราทำ
พอเราเริ่มเข้าถึงความสุขภายในและเห็นถึงผลที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราทำ
อันนี้เป็นสาเหตุที่สำคัญมากๆ
เราต้องปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงธรรมะภายในให้ได้แล้วเราจะปลื้มตลอด
เหมือนโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา
จุดเริ่มต้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านมาแสดงธรรม
ท่านจะมาเล่าอานิสงส์ให้เราฟังมาบอกเราว่าทำแบบนี้แล้วจะเป็นยังไง มีผลอย่างไร
แล้วเอา Case Study มาเล่าให้เราฟัง เราก็เห็นผล แม้เราไม่สามารถปฏิบัติธรรมให้เห็นผลได้ด้วยตัวเอง
แต่เรารู้สึกว่า เราปลื้ม และก็มีการจำลองนรกมาให้เราดูว่าถ้าทำชั่วจะเป็นอย่างไร
จำลองสวรรค์มาให้เราดูสวรรค์เป็นอย่างไร
ก็ทำให้เราปลื้มในสิ่งที่เราทำอย่างเต็มที่
พระอาจารย์ก็ไปดูอีกว่า
ถ้าในหลักธรรม การทำบุญให้ปลื้มจะเอาหลักธรรมอะไรมาจับ ทำอย่างไรให้ปลื้มในบุญ
พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ ท่านเคยเขียนไว้ว่า
…ถ้าเราทำบุญเดิม ๆ ซ้ำกันทุกวันจนรู้สึกไม่ปลื้ม เท่ากับทำครั้งแรก
จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร? …วิธีการแก้คือให้ใช้หลักอิทธิบาท
4 คือ
1.ฉันทะ คือ
เห็นประโยชน์ในสิ่งที่ทำ ไม่ได้ทำเพราะหน้าที่ ไม่ใช่ทำไปเรื่อย
ๆถ้าอย่างนั้นความปีติมันจะหย่อนลง
แต่ถ้าเราใส่ใจเช่นถวายทานวันนี้ก็จะทำให้พิเศษยิ่งขึ้นไป
ประณีตขึ้นใส่ใจยิ่งขึ้นทุกครั้ง จะนำไปสู่
2.วิริยะ
ทำแบบมีความใส่ใจเป็นพิเศษ
3.จิตตะ
คือมีความตั้งใจทำ
4.วิมังสา คือเข้าใจทำ
โยมคิดว่าพระที่ท่านมาบวชท่านเคยรู้สึกไม่ปลื้มกับการบวชไหม
แต่วันที่บวชจะรู้สึกปลื้มมาก แต่พออยู่ไปหลาย ๆ นาน ๆ ความปลื้มน้อยลง แต่สิ่งที่พระพุทธองค์ท่านให้ไว้
เป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนให้พระภิกษุต้องพิจารณาทุกวัน และพิจารณาบ่อย ๆ
เพื่อย้ำเตือนให้เราเห็นถึงคุณค่าของการมาบวช
มีอยู่ 10 ข้อ
ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนือง
ๆ 10 อย่าง ( อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร)
1.บรรพชิตควรพิจารณาเนือง
ๆ ว่า บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใด ๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้น ๆ
2.บรรพชิตควรพิจารณาเนือง
ๆ ว่า ความเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย
3.บรรพชิตควรพิจารณาเนือง
ๆ ว่า อาการกาย วาจาอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก
ไม่ใช่เพียงแค่นี้
4.บรรพชิตควรพิจารณาเนือง
ๆ ว่า ตัวของเราเองติเตียนตัวของเราเองโดยศีลได้หรือไม่
5.บรรพชิตควรพิจารณาเนือง
ๆ ว่า ผู้รู้ใคร่ควรแล้ว ติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่
6.บรรพชิตควรพิจารณาเนือง
ๆ ว่า เราจักต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น
7.บรรพชิตควรพิจารณาเนือง
ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว
8.บรรพชิตควรพิจารณาเนือง
ๆ ว่า วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
9.บรรพชิตควรพิจารณาเนือง
ๆ ว่า เรายินดีที่สงัดหรือไม่
10.บรรพชิตควรพิจารณาเนือง
ๆ ว่า คุณวิเศษของเรามีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขินในเวลาเพื่อนบรรพชิตถามในการภายหลัง
ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้บ่อย
ๆ เราก็จะรู้ว่าเรามาบวชทำไม ทำให้เราเกิดความปลื้มในการมาบวชได้
ของโยมเองก็สามารถปรับใช้ได้ จะเปลี่ยนใช้คำว่า กัลยาณมิตรควรพิจารณาเนืองๆว่า
ก็จะมีอยู่คล้ายกัน เราก็สามารถนำมาพิจารณาตัวเราเองได้
เพราะฉะนั้นการที่จะทำบุญแล้วให้ได้ปลื้ม
ๆ สำคัญก็คือเราจะต้องใช้สติปัญญาไตร่ตรองพิจารณาถึงโทษภัยให้ได้ ...โทษและภัยในวัฏฏะสงสาร
เพื่อมองภาพรวมของวงจรชีวิตในสังสารวัฏ เรื่อยลงมาถึง … โทษและภัยอันตราย
ในความประมาทในชีวิต ในวัย ในความไม่มีโรค เป็นต้น เหมือนเรามาสั่งสมบุญเรามองเห็นแล้วว่าเดี๋ยวเราก็ตายแล้ว
เรามีชีวิตอีกไม่นานแล้ว เรามีเวลาอีกไม่มากแล้ว เราจะต้องทำความดีให้ยิ่งขึ้นไป
เป็นการเตือนเรา และ
ใช้สติปัญญาของตน
ไตร่ตรองพิจารณาถึง ความมีบุญวาสนาของตน -
ได้เกิดเป็นมนุษย์ ร่างกายไม่พิกลพิการ
- ได้เกิดในสมัยที่พระพุทธศาสนา ยังดำรงอยู่ - ตนเองก็เป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล
ไม่มีทิฏฐิวิบัติ -
มีศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัยในการ บำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา พูดแบบชาวบ้านคือ เราเองก็ใฝ่ดี
รักการทำความดี ใฝ่พัฒนาจิตใจให้ใส ให้สูง
บางทีเราไม่ได้นึกเพราะเราทำเป็นปกติแต่ถ้าเรานึกบ่อยๆจะเกิดความปลื้มว่าเราโชคดี
บางทีเราไม่ได้นึก ความปลื้มมันก็ไม่เกิด
ไทยธรรมก็มี
ผู้รับไทยธรรมก็มี เพื่อนนักสร้างบารมีเราก็มี มันก็ทำให้เราเกิดความปลื้ม
มองหลายๆอย่าง มองถึงคนที่เขาไม่พร้อมไม่มีโอกาสเหมือนเรา
คนที่เขาไม่สามารถมาทุ่มเทได้เหมือนเรา คนที่เขาไม่มีภาวะเหมือนเรา
อาจจะอยู่ในเป็นเปรต สัตว์นรก อสูรกาย ไม่มีครูบาอาจารย์เหมือนเรา
ไม่ได้เกิดมาพบหมู่คณะเหมือนเรา
พอเราเริ่มมองเห็นถึงความโชคดีเราก็จะทำสิ่งต่างๆเห็นคุณค่ามากขึ้นกว่าเดิม
หรือ
การจัดเตรียมไทยธรรม - วัตถุทาน อามิสทาน ให้สะอาด
ประณีต -
ตาเห็นก็แจ่มใส ยังใจแช่มชื่นเบิกบาน
การจัดเตรียมไทยธรรมของเราก็ทำให้ดีขึ้น ประณีตขึ้น
ละเอียดขึ้นจากที่เราเคยทำมา ปกติเราทำแค่นี้พอทำไปแล้วมันเริ่มชินชา
ก็เพิ่มความประณีตเข้าไปให้มากกว่าเดิมเรื่อยๆ จะทำให้เราไม่หยุดนิ่งเกิดการพัฒนาไปเรื่อยๆ
และสำคัญก็คือ
เตรียมความพร้อมของร่างกายให้ดี
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ พร้อมจะสั่งสมบุญ
เพราะกายที่แข็งแรงเป็นฐานทัพให้ใจ ไม่กังวล มุ่งสู่ความละเอียดภายในได้ปลอดโปร่ง จะมาสั่งสมบุญเมื่อคืนนอนดึกมากเลย
พอจะมาวัดง่วง เหงา หาว นอน อารมณ์ที่จะปลื้มก็น้อย
แต่ก็ถือว่ายังดีที่แบกสังขารเอาชนะตัวเองมาวัดได้ ง่วง เหนื่อยแค่ไหนก็มา
แต่ถ้าจะให้ดีต้องมีความพร้อมในด้านร่างกายด้วยจึงจะปลื้มมาก -
เสื้อผ้าอาภรณ์ ดูดี ที่สะอาดก็ทำให้มั่นใจในตัวเอง เหมาะสมกาละ เทศะเป็นการให้เกียรติในบุญสถาน
กิจกรรมงานกุศล เป็นการทำให้ตนเองเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี ดูแล้วสบายตา
เห็นแล้วสบายใจ
ถ้าไม่ถูกที่ถูกทางความปลื้มก็น้อยลง
เขาก็มาถามทำไมแต่งตัวแบบนี้มาวัด เราก็ถูกตำหนิ ความปลื้มก็น้อยลงได้
การเตรียมความร่างกายให้พร้อมก็สำคัญ มาแล้วรู้สึกว่าสดชื่น
ก่อนมาฟังธรรมก็ทานข้าวให้อิ่ม รู้สึกฟังธรรมอิ่มกาย อิ่มใจ
ถ้ามาฟังแล้วหิวก็รู้สึกว่าเมื่อไหร่จะจบซักทีจะได้ไปหาอะไรทาน
มันก็ไม่เกิดความพร้อม
เตรียมดวงพักตร์
ให้ประดับด้วยรอยยิ้ม สีหน้าแช่มชื่น ต้อนรับคนรอบข้าง …เตรียมดวงเนตร เป็นมิตรกับคนรอบข้าง …เตรียมดวงหทัย ให้เกลี้ยง
จากภาระเครื่องกังวลใจ สิ่งที่เป็นข้าศึกต่อการกุศล คือ เตรียมใจให้ใส
เปิดใจให้พร้อมที่จะ รองรับสายธารแห่งบุญ และสายธารแห่งธรรม ดีที่สุดคือ
เราต้องเห็นดวงบุญ เอาใจอยู่ในดวงบุญ และสุดท้ายทุกครั้งที่ทำบุญให้..
อธิษฐานจิต อันนี้เคยใช้แล้วนะ
ใครที่ทำบุญแล้วไม่ปลื้มให้ลองดู ให้เราอธิษฐานจิตทุกครั้งที่เราทำบุญ
อาจจะอธิษฐานจิตหลังจากที่ทำก็ได้ หรืออธิษฐานจิตก่อนทำก็ได้
การอธิษฐานก็คือการตอกย้ำไปเลยว่าเราทำไปเพื่ออะไร มีคุณค่าอะไรกับสิ่งที่เราทำ
เหมือนเรามาฟังธรรมแล้วถ้าไม่ได้อธิษฐานจิตมันไม่ได้ตอกย้ำ แต่ถ้าเราอธิษฐานจิต
ด้วยบุญที่วันนี้เป็นวันพระใหญ่
วันได้ตั้งใจมาฟังธรรมซึ่งไม่ค่อยได้มา แต่วันนี้มา
ก็เลยอธิษฐานจิตว่าด้วยบุญที่ข้าพเจ้าได้มาฟังธรรมในวันนี้
ให้ข้าพเจ้ามีดวงปัญญาแตกฉาน สว่างไสวให้นำธรรมะไปสอนตัวเองได้ สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ให้มีแต่เพื่อนดี ๆ มีกัลยาณมิตรที่ดี ได้สร้างบารมียิ่งๆขึ้นไป
มีกำลังใจที่เข้มแข็ง อะไรก็ตามที่อธิษฐานแล้วมันเพิ่มกำลังใจและให้เราเห็นคุณค่าของตัวเราเอง
หรือเราทำหน้าที่เป็นพิธีกร มาเป็นช่างภาพอย่างนี้ทุกวันเสร็จแล้วอธิษฐานเลย
ด้วยบุญที่ข้าพเจ้ามาทำหน้าที่พิธีกร
นำทุกท่านได้สวดมนต์ ทำความดีเป็นต้นบุญต้นแบบ ให้ข้าพเจ้ามีเสียงที่ไพเราะ
เป็นผู้นำในการสร้างความดี จะไปชักชวนใครก็มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์ มีเดช
มีอำนาจ มีวาสนา เป็นคนที่คิดดี พูดดี ทำแต่ความดี ชักชวนคนทำความดีได้ง่าย
พอเราอธิษฐานเราจะเกิดความปลื้มว่าที่เราทำมันมีคุณค่า
มีความหมาย ที่เราได้มาทำหน้าที่เป็นช่างภาพ ช่างวีดีโอ
เราได้ถ่ายทอดให้กับคนไม่รู้กี่ล้านคนได้มาดู และเขาได้ฟังธรรม
เขาได้เกิดกุศลที่ดี มีเจตนาที่ดีในการทำความดี
ใครก็ตามที่ได้ดูวีดีโอที่ข้าพเจ้าถ่าย ให้ข้าพเจ้ามีส่วนในบุญของเขาทั้งหมดเลย ใครเป็นคนดีเราก็ได้บุญด้วย
และต่อไปให้แวดล้อมด้วยกัลยาณมิตรที่ดี อย่างนี้ ผิดไหม (ไม่ผิด) เหมือนใคร
เหมือนคุณยาย
คุณยายปลูกต้นไม้กับเราปลูกต้นไม้พระอาจารย์ว่าอาจจะไม่เหมือนกัน
เราปลูกต้นไม้เป็นยังไง เหนื่อยก็เหนื่อย หนักก็หนัก ร้อนก็ร้อนปลูกทำไมก็ไม่รู้
ต้นแค่นี้ เมื่อไหร่มันจะโต อาจจะบ่น
คุณยายปลูกต้นไม้
คุณยายคิดอะไร เคยอ่านใช่ไหม คุณยายเป็นตัวอย่างให้กับเรา คุณยายปลูกต้นไม้
คุณยายอธิษฐาน ต้นไม้ที่ยายปลูก ต่อไปให้มีคนมานั่งสมาธิ
ใครมานั่งสมาธิก็ให้เข้าถึงธรรม
คุณยายก็จะได้บุญกับทุกๆคนที่ได้มานั่งใต้ต้นไม้ต้นนี้
พอปลูกแล้วมันปลื้ม
อยากจะปลูก จะจองทุกต้นเป็นของเราหมดเลย เพราะเรามองเห็นถึงคุณค่าในสิ่งที่เราทำ
เหมือนคนที่เป็นช่าง
ช่างทุกช่าง ช่างก่อสร้าง ที่มาก่อสร้างที่นี่ บางคนก็ได้บุญเยอะนะ
ถ้าเขาคิดได้ว่า เรากำลังมาสร้างสถานที่ บุญสถาน
ถวายเป็นพุทธบูชาไว้ในพระพุทธศาสนาเขาจะได้บุญมหาศาล
แต่ถ้าเขาคิดว่ามันเป็นหน้าที่เขาจ้างมาก็ทำ
บุญก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นการเห็นคุณค่าสำคัญ
เราก็ต้องหมั่นตอกย้ำด้วยการอธิษฐานจิต จะเป็นการตอกย้ำเป้าหมายในชีวิตของเราว่า
เราทำไปเพื่ออะไร เราทำไปทำไม เราเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายในชีวิตของเรา
พอเราหมั่นตอกย้ำบ่อยๆ ก็จะเป็นการเตือนตัวเองบ่อยๆ เหมือนพุทธสุภาษิต
ว่า ถ้าบุรุษพึงทำบุญไซร้
พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะว่า ความสั่งสมบุญ ทำให้เกิดสุข.
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น