วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา
วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2561
พระมหามิญช์ พุทฺธิวฑฺโฒ
แสดงธรรมเรื่อง
บวชสามเณร จ.ไพลิน กัมพูชา
ห้องSPD 4 สภาฯ
*********************
ขอความเจริญรุ่งเรืองในธรรม จงมีแด่ท่านสาธุชนผู้มีบุญทุกท่าน
ขอเจริญพรญาติโยมโรงเรียนฝันในฝันทุกท่านนะ วันนี้ได้มีโอกาสเล่าปกิณกะธรรม หลังจากที่ได้เดินทางไปประเทศกัมพูชาหลายปี ได้เข้าไปศึกษาวัฒนธรรม ความรู้ประวัติศาสตร์ของประเทศกัมพูชาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า
5 ปี มีโอกาสได้ไปหลายเมือง หลายจังหวัด จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้
มีการจัดบวชสามเณรที่ประเทศกัมพูชาที่จังหวัดพระตะบอง มีพระอาจารย์สุขจันทร์ ท่านเข้าไปบริหารงาน
เอาโครงการไปจัดบวชสามเณร 1,000 รูป
หลวงพี่ได้มีโอกาสนำโครงการนี้ไปจัดบวชที่จังหวัดไพลิน ประเทศกัมพูชา
อยู่ติดชายแดน ภาคตะวันออกของประเทศไทย ใกล้กับจังหวัดจันทบุรี ผ่านทางช่องทางเขาผักกาด
ถ้าหากใครได้เคยฟังเรื่องราวในสมัยก่อน ถ้าศึกษาเรื่องรัตนชาติจะคุ้นเคย
คำว่าไพลินเป็นรัตนชาติอย่างหนึ่ง จังหวัดไพลินนี้เป็นต้นกำเนิดของรัตนชาติที่เรียกว่า
ไพลิน
และได้รับการสถาปนาให้เป็นจังหวัดล่าสุดของประเทศกัมพูชาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้
โดยทั่วไปแล้วจังหวัดไพลินมีพระและสามเณรทั้งหมดในจังหวัดประมาณ 300
กว่ารูป เพิ่งจะมีวัดที่รอดจากสงครามมาได้ประมาณ 33 วัด เป็นจังหวัดเล็ก ๆ
มีประชากรอาศัยอยู่ 70,000 ถึง 100,000
คน
เป็นจังหวัดที่รักและศรัทธาพระพุทธศาสนา
แม้ว่าจะมีผู้คนอยู่กระจัดกระจายไปในที่ต่าง ๆ
แต่ผู้คนเหล่านั้นต่าง ๆ ก็มีความศรัทธาและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
โชคดีที่หลวงพี่และพระอาจารย์ชุดศูนย์การศึกษาเขาแก้วเสด็จ
จำพรรษาอยู่ที่นั่น 14 ปี เราได้รู้จักกับรักษาการเจ้าคณะจังหวัดไพลิน ซึ่งแต่เดิมท่านก็ได้มีโอกาสเดินทางมาที่วัดพระธรรมกายในช่วงวันคุ้มครองโลก
ตลอด 4 – 5 ปีติดต่อกันมานี้
ท่านมาเยี่ยมวัดพระธรรมกายทุกปี และได้มีโอกาสไปพักที่เขาแก้วเสด็จ
ท่านได้มีโอกาสพาหมู่คณะ 40 – 50 คนบ้าง บางปีเป็น 100 คน ไปพักที่เขาแก้วเสด็จก่อน แล้วค่อยมาร่วมพิธีงานวันคุ้มครองโลก
เพราะฉะนั้นความรู้จักคุ้นเคยในแต่ละปีจึงคุ้นเคยกันดี จนกระทั่งในปีนี้ท่านได้รับตำแหน่งเป็นรักษาการเจ้าคณะจังหวัดไพลิน
สิ่งที่ท่านปรารภและคุยกับหลวงพี่มาตลอดว่า เมื่อไหร่จะมีการจัดบวช อยากให้จัดบวชอีกครั้ง
อยากจะให้มีพระเณรเยอะ ๆ ในจังหวัดไพลิน ในเบื้องต้นหลวงพี่ 2 ปีแรกก็ค่อย ๆคุย ทำความรู้จักกัน หลวงพี่ได้มีโอกาสเข้าไปประเทศกัมพูชา
เรียนรู้วัฒนธรรมและศึกษาประวัติศาสตร์หลาย ๆ อย่าง
มีความรู้สึกผูกพันกับประเทศกัมพูชาจนหลาย ๆ คนทักว่าหลวงพี่มิญช์ไม่ค่อยอยู่เขาแก้วเสด็จ ก็จะไปอยู่ประเทศกัมพูชาเป็นหลัก
ไปอยู่ที่นั่นได้มีโอกาสไปเรียนภาษากัมพูชา หลวงพี่เป็นคนต่างจังหวัดเป็นคนภาคเหนือ
เมื่อมาอยู่เขาแก้วเสด็จได้พบปะกับกัลยาณมิตร ผู้นำบุญ กัมพูชามากมาย มีความรู้สึกว่าสักวันหนึ่งถ้ามีโอกาสจะเข้าไปเยี่ยม
เมื่อ 10 ปี ที่แล้วจึงได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมที่ประเทศกัมพูชา
ข้ามไปข้ามมาระหว่างประเทศไทย กับประเทศกัมพูชา จนกระทั่งมาถึงทุกวันนี้ จึงได้นำพาสามเณรพี่เลี้ยง
จากศูนย์การศึกษาเขาแก้วเสด็จ โรงเรียนเตรียมพุทธศาสตร์ไปร่วมกันจัดโครงการบวชสามเณรที่จังหวัดไพลิน
ประเทศกัมพูชา ซึ่งก็มีสามเณรมาร่วมบวชทั้งหมด 250 รูป มีการบวชอุบาสิกาแก้วด้วย
ซึ่งภาษากัมพูชาจะเรียกศีลวัตตี (อุบาสิกาแก้ว) คือผู้ประพฤติศีล ในศีลในวัตรปฏิบัติของสมณะ คืออุบาสิกาแก้ว นั่นเอง มีทั้งเด็กนักเรียน และญาติโยมสนใจ
ตั้งแต่รุ่นเยาว์ถึงรุ่นอายุมาก ๆ ที่เข้าวัดมีตั้งอายุ 11 ปี 13 ปี จนกระทั่งถึงอายุมากที่สุด 80 ปี
ก็มาร่วมบวชที่นี่
หลวงพี่อยากให้ดูภาพ การทำงาน และการจัดอบรม ซึ่งเป็นภาพดี ๆ การบวชครั้งนี้
เป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ระหว่างมูลนิธิวัดพระธรรมกาย กับ ประเทศกัมพูชา
อบรมระหว่างวันที่ 7 ถึง 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
เป็นอุโบสถ 3 ชั้น มีประวัติพิเศษสร้างโดยชุมชนชาวมอญ อพยพมาจากพม่า
ตรงมาจากกาญจนบุรีข้ามตรงไปจนกระทั่งถึงจังหวัดไพลิน
ถ้าเราลากเส้นตรงจากตะวันตกไปตะวันออก วัดนี้สร้างโดยคณะศรัทธาชาวมอญ – พม่า
สร้างเป็นอาคาร 3 ชั้นข้างบนเป็นปราสาท
เป็นเจดีย์บรรจุส่วนกลางจะเป็นพระบรมสารีริกธาตุ ส่วน 4 มุมบรรจุพระอรหันตธาตุตามตำนานว่าไว้
ซึ่งก่อสร้างมามีอายุกว่า 50 ปี เกือบ 60 ปี
และเป็นอาคารเดียวที่รอดพ้นจากสงครามที่ผ่านมาของประเทศกัมพูชา
ก็เป็นความร่วมแรงร่วมใจกันของภิกษุ
ชาวคณะสามเณรทั้งฝั่งประเทศกัมพูชาและฝั่งไทย ทั้งข้าราชการ
ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งกระทรวงธรรมการ
หรือกระทรวงพุทธศาสนาของจังหวัดก็เข้ามาร่วมด้วย ที่สำคัญคือ มีพระครูธัมมปทีโป
รักษาการเจ้าคณะจังหวัดไพลิน
ซึ่งท่านก็รักพวกเรารักหมู่คณะเห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อยของหมู่คณะเรา
เห็นต้นแบบ เห็นตัวอย่างที่ดีของวัดเราก็รู้สึกว่าอยากจะนำวิธีการที่จัดเป็นระบบ
ระเบียบต่าง ๆ ไปแลกเปลี่ยนและก็เรียนรู้ที่ประเทศกัมพูชา จะมีทีมพระอาจารย์กัมพูชาได้มาดูงานที่ศูนย์การศึกษาเขาแก้วเสด็จ
มากันหลายครั้งและแต่ละครั้งท่านก็ได้รับประโยชน์กลับไปทุกครั้ง และก็สร้างแรงบันดาลใจที่จะทำให้เกิดความรู้สึกอยากจะจัดโครงการนี้ด้วยตัวท่านเองก่อน
เพราะหลวงพี่ถือว่าการจัดงานทำนองนี้เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ จะต้องเกิดแรงบันดาลใจ
ส่วนผู้ที่ต้องเข้าไปร่วมด้วยความเคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน
ให้เขามีความรู้สึกว่าการทำงานนั้นต้องประสานกันทั้งสองฝ่าย
ซึ่งจะมีทีมงานทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชา
และที่สำคัญที่สุดก็คือล่ามแปลต้องมาช่วยกัน
ภาพวันแรก ๆ เป็นพิธีตัดปอยผมที่กัมพูชา ซึ่งก็มาจากพิธีทำขวัญนาค
ในสมัยก่อนก็คือพิธีตัดปอยผม อันนี้ก็ใช้วัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ
ซึ่งทางกัมพูชาก็จะมีพิธีทำขวัญนาค มีการกล่าวถึงพระคุณของพ่อแม่
ในการบวชครั้งนี้เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ตั้งใจบวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่
ซึ่งโครงการบวชนี้เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วเคยจัด
แล้วก็เพิ่งมีการจัดอีกครั้งคือครั้งนี้ ห่างเหินการจัดบวชแบบจำนวนมาก ๆ มาเป็น 10
ปีแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำความปลาบปลื้มปีติให้กับชาวจังหวัดไพลินมาก
กัลยาณมิตรพรสรร กำลังเอก ท่านเจ้าภาพได้เดินทางไปร่วมกับคณะ
แล้วก็เดินแห่นาคธรรมทายาทรอบเมืองเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตรครึ่ง เดินตอนช่วง
08.30 น. เสร็จพิธีประมาณเกือบ 10.00 น. เป็นขบวนที่ยาวมาก เพราะว่าสาธุชน พ่อแม่ อุบาสก อุบาสิกา
ญาติพี่น้องที่มาร่วมพิธีกรรมร่วม 1,000 กว่าคน
ทั้งขบวนเกือบ 2,000 คน
ทางทีมงานของกัมพูชาก็ให้ความร่วมมือ
ทีมงานที่ไปจากวัดเราก็ได้ช่วยกันจัดขบวนให้เป็นที่เลื่อมใส น่าศรัทธา
เป็นสิ่งที่น่าตื่นของประชาชนชาวพุทธที่นั่นมาก ๆ
และเขาไม่เชื่อว่าการจัดงานใช้เวลาเตรียมการอยู่แค่ 2 – 3 วันเท่านั้นเอง
ก็สามารถจัดงานได้อย่างเรียบร้อย สะอาด ขาวสะอาด ซึ่งถ้าท่านเห็นภาพเล็ก ๆ
นาคแต่ละองค์จะถือเป็นลูกมะพร้าวก็คล้าย ๆ บายศรีของประเทศไทย
แต่ที่นี่เป็นลูกมะพร้าวประดับไปด้วยใบไม้ใบตอง ดอกไม้เป็นเครื่องสักการะพระอุปัชฌาย์
ทั้ง 250 ท่านก็ถือหมดเลย
ซึ่งเป็นการจัดขบวนการบวชซึ่งใช้วิธีแบบโบราณของประเทศกัมพูชา
วัฒนธรรมชาวพุทธ คือชุดขาวเข้าวัด
เป็นประเพณีชาวพุทธที่เราจะต้องช่วยร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้
การนุ่งขาวห่มขาวเข้าวัดเป็นสิ่งที่สำคัญของชาวพุทธมาก จริง
ๆแล้วเป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล
ถ้าหากท่านใดมีความสนใจศึกษา ศึกษาในพระไตรปิฎก
ใครที่ใช้อินเตอร์เน็ตก็ค้นหาใน Google สามารถค้นหาด้วยคำว่านุ่งขาวห่มขาวแล้วค้นไปที่พระไตรปิฎก
เราจะพบว่าในพระไตรปิฎกนั้น มีปรากฏว่าการนุ่งขาวห่มขาวเป็นพุทธประเพณี
เป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธตั้งแต่สมัยพุทธกาล หลวงพี่คัดเอาคำที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกมีหลายพระสูตร
วัฒนธรรม
ประเพณีการนุ่งขาวห่มขาวเข้าวัดเป็นวัฒนธรรมที่ทุกท่านจะต้องศึกษาเรียนรู้และช่วยกัน
บอกกันต่อ ๆไปว่า
เมื่อมาเป็นชาวพุทธโดยสมบูรณ์แล้วถึงเวลาจะเข้าวัดปฏิบัติธรรมขอให้นุ่งขาวห่มขาว
แต่ละอย่างก็มีความสำคัญทั้งสิ้น
เราจะเห็นว่าวันที่อาจจะมีแม่ชีและพุทธศาสนิกชนชาวกัมพูชาก็มาร่วมพิธีนุ่งขาวห่มขาวกันเป็นส่วนใหญ่
เพราะฉะนั้นการนุ่งขาวห่มขาวเป็นสัญลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมของชาวพุทธ
ภาพจิตรกรรมที่ผนังโบสถ์ในยุคสมัยเก่าเราจะเห็นว่ามีหลายภาพที่ปรากฏของสาธุชนที่ใส่ชุดขาว
ๆ เข้าวัดปฏิบัติธรรม อย่างน้อย ๆ ก็จะเห็นเสื้อขาว
ฉะนั้นชุดขาวจึงเป็นสิ่งที่ทุกท่านจะต้องเรียนรู้
นี่ก็คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน
บางครั้งเราไม่ได้ให้ความรู้ซึ่งกันและกันเราก็ไม่รู้
คนทั่วไปเขาก็ไม่รู้ว่าทำไมจะต้องใส่ชุดขาวเข้าวัดด้วย
การจะเปลี่ยนแปลงให้เขาเข้าใจวัฒนธรรมเก่า ๆ
เข้าใจวัฒนธรรมที่ถูกต้องสิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจกันก่อนจึงต้องศึกษาวัฒนธรรมร่วมกัน
การได้มาศึกษาวัฒนธรรมร่วมกันทำให้เรารู้ ให้เข้าใจและเห็นตรงกัน
ซึ่งต่อไปในอนาคตชาวพุทธก็จะต้องรวมกันเป็นหนึ่งให้ได้ ให้มีพลังความสามัคคีให้ได้
พลังสามัคคีมันก็เริ่มต้นจากความเข้าใจที่ตรงกัน
อย่างน้อยก็ความเข้าใจเรื่องการใส่ชุดตามพุทธประเพณีเป็นวัฒนธรรมที่งดงามซึ่งชาวพุทธจะต้องพูดกันต่อ
ๆไป บอกกันต่อ ๆไปว่า จริง ๆแล้วมีปรากฏในพระไตรปิฎกว่า ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ที่ประพฤติพรหมจรรย์
หรือคฤหัสถ์ที่มีครอบครัวแล้วก็ตาม
ต่างคนก็ต่างนุ่งขาวห่มขาวเข้าวัดปฏิบัติธรรมกันทั้งสิ้น ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ วัดพระธรรมกายของเราก็พยายามที่จะแนะนำสาธุชนใหม่และเก่า
และก็ตอกย้ำกันตลอดว่าการใส่ชุดขาวเข้าวัดนั้นเป็นพุทธประเพณีที่งดงาม
นี่บรรยากาศการรับผ้าไตรแขกที่มาร่วมงานทุกคนก็เห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อย
มีความปลื้มปีติมาก ในวันบวชสามเณร มีการบวชอุบาสิกาแก้วด้วย
การบวชอุบาสิกาแก้ว (ศีลวัตตี)
เป็นเรื่องที่เราเข้าไปให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับระเบียบวินัย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความดีสากล ให้กับทุก ๆ คนมันเกิดผลทั้งสิ้น
ทุกครั้งที่เรามีภาพดีๆ ออกไปสู่โลกโซเชียลมีเดีย
ที่เราสวมชุดขาวนั่งสมาธิสวดมนต์ภาวนาทุกอย่างนั้นมีผลหมด
แม้กระทั่งสามเณรทุกรูปเวลาจะถ่ายรูป
เวลาจะเดินไปไหนก็ตามก็จะให้เรียงลำดับเป็นระเบียบตั้งแต่องค์ตัวเล็ก ๆ อยู่ข้างหน้าไล่เรื่อยไปจนกระทั่งตัวสูง
ๆ เวลามองดูก็ไม่ขัดตา แล้วมีความรู้สึกสบายตา เย็นตา สบายใจ
ซึ่งภาพที่เราถ่ายทอดออกไปและช่วยกันประกาศพระศาสนาตรงนี้มีผล
หลวงพี่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวทางพระพุทธศาสนาของประเทศกัมพูชาอยู่ตลอด
ล่าสุดวันสองวัน ก็ได้เห็นภาพสามเณรที่ประเทศกัมพูชาท่านไปทัศนศึกษา และเห็นภาพที่งดงาม
สามเณรที่ประเทศกัมพูชามีบวชและอบรมเหมือนประเทศไทยเรา
สิ่งที่หมู่คณะเราได้เข้าไปให้ความสำคัญ
เข้าไปทำรายละเอียดตรงนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการร่วมแรงร่วมใจในการอภิวัฒน์
และเชิดชูพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านใกล้เรือนเคียงของเราสำคัญมาก คราวที่แล้วพระอาจารย์สุขจันทร์ให้เราได้ดูภาพความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสามเณรเมืองพระตะบอง
คราวนี้หลวงพี่จะนำความงดงามของสามเณรจังหวัดไพลิน ซึ่งสามเณรสอนง่าย
เราก็สื่อสารกันด้วยภาษากัมพูชาเป็นหลัก หลวงพี่ถึงเวลาที่ต้องเทศน์
ก็ต้องพูดภาษากัมพูชา แต่จะเทศน์ได้สั้น ๆ
ส่วนใหญ่จะได้ให้โอกาสทางพระอาจารย์ พระพี่เลี้ยงที่มาจากประเทศไทยของเราไปสอนอบรมสมาธิสามเณร
หลวงพี่ก็จะให้คำง่าย ๆ ในการปฏิบัติธรรมให้กับพระที่ไปสอนฝึกอบรม เด็ก ๆ ก็จะรู้ ยกตัวอย่างเช่น คำว่า นั่งสมาธิ
คำก็คล้าย ๆ กับภาษาไทย ภาษากัมพูชาจะบอกว่า กุยสมาธิ (กุย แปลว่า นั่ง)
หรือบางทีคำว่านั่งสมาธิในภาษาไทย ถ้าความรู้สึกของชาวกัมพูชาถ้าใช้คำว่าตั้งสมาธิเขาจะเข้าใจง่าย
หมายถึงการกำหนดจิตให้มีสมาธิ
จะสังเกตว่าเหมือนเลย (ตังสมาธิ) ปรับโทนเสียงสำเนียงนิดหน่อย
ตังสมาธิคือการทำใจให้เป็นสมาธิ ถ้าภาษาไทยของเราก็คือ ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ ดังนั้นคำว่าตั้งในภาษาไทยน่าจะเพี้ยนมาจากภาษากัมพูชา
เพราะฉะนั้นการที่เราได้เรียนรู้ทั้งภาษาทั้งวัฒนธรรมเราจะมีความรู้สึกสนุก
และมีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น เวลาเราเข้าไปถึงประเทศกัมพูชาเราจะรู้สึกเหมือนเราเป็นพี่เป็นน้อง
เป็นเพื่อน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นชาวพุทธที่รักพระพุทธศาสนาและอยากที่จะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีชาวพุทธไว้
ด้วยความเต็มเปี่ยมของทั้งคู่เป็นจุดเชื่อมที่ทำให้เรารู้สึกถึงกันได้
บางครั้งพูดกันไม่รู้เรื่องมีแค่รอยยิ้มให้กันก็เข้าใจ
ครั้งแรกที่หลวงพี่นำนั่งสมาธิเป็นภาษากัมพูชา
เราพูดกันด้วยภาษามือใช้คำง่าย ๆ เช่น ถ้าจะให้เขานึกถึงดวงแก้ว
คำว่าดวงแก้วก็แก้วเหมือนกัน ส่วนคำว่านึก
โชคดีที่มีโอกาสเรียนภาษาเหนือมาตั้งแต่เกิด
อยู่จังหวัดลำปางการพูดภาษาเหนือไม่ใช่เรื่องยากเลย ภาษากัมพูชาเวลาที่พูดคำว่า
นึก พูดว่า กึด ถ้าใครเป็นชาวเหนือก็รู้ว่าคำว่า กึด ก็คือนึกคิด
ยิ่งเรามาจากต่างถิ่นต่างแดนจะพบว่าจริง ๆ แล้วก็พี่น้องกันทั้งนั้น
ภาษาอย่างเดียวกันทั้งนั้น
ฉะนั้นคำ แค่ภาษาถ้าเราเรียน เรารู้ เราเข้าใจ เราก็จะเห็นความเป็นพี่เป็นน้องของทุกชนชาติที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พอเรารู้สึกความเป็นพี่เป็นน้องเราจะมีความรู้สึกรัก เมตตาต่อกัน
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มีจิตเมตตา
คำว่าเมตตา มาจากคำว่า มิตร มิตรแปลว่าเพื่อน
เพื่อนร่วมโลกของเรา เวลาเรามองพี่น้องนักสร้างบารมีไม่ว่าจะเกิดในที่ใด ๆ ในโลก ลองมองแบบมิตร
มองแบบเพื่อน คือมองด้วยสายตาประกอบไปด้วยความเมตตา พอเรามีความเมตตาอยู่ในใจ
เวลาคิดจะคิดแบบเมตตา เวลาจะพูดก็พูดด้วยความมีเมตตาประกอบเข้าไปด้วย
เวลาจะทำก็ทำประกอบไปด้วยเมตตา เห็นในโลกโซเชียลเยอะ บางคนไม่มีข้อนี้เลย
อะไรไม่ถูกใจก็โพสต์ว่ากันแรง ๆ
ถ้าเราเป็นชาวพุทธที่แท้จริงจะพูด
แม้กระทั่งแต่ปัจจุบันนี้คนที่อยู่ในโลกโซเชียลชอบโพสต์เรื่องราวไปในเฟสบุ๊ค
ในไลน์ ในแอปพลิเคชั่น ทวิตเตอร์
ถ้าเป็นชาวพุทธที่แท้จริงต้องโพสต์ประกอบไปด้วยความมีเมตตา
เรารู้ข่าว 13 นักเตะอยู่ในถ้ำ
เราก็ต้องประกอบไปด้วยเมตตา ขอให้ลูกหลานออกมา ปลอดภัย ขอให้หลวงปู่ปกป้องคุ้มครอง
สิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำออกไป แม้กระทั่งเราเขียนไปมันเกิดผลหมด แล้วคนที่มีสัมมาทิฏฐิเขาจะรู้สภาพจิตใจของเราว่า
สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกหลวงพ่อหลานคุณยาย
ลูกศิษย์วัดพระธรรมกายทั่วโลก ตราสัญลักษณ์ของคนมีอยู่
บางคนมีภาพโปรไฟล์เป็นรูปวัดพระธรรมกาย
เป็นรูปทำบุญทำกุศล เราต้องรักษาภาพของเราด้วยนะ
เราอย่าไปโพสต์อย่าไปเล่นในสิ่งที่ไม่เหมาะสม คำรุนแรง เป็นผรุสวาท
ควรเป็นคำที่ประกอบด้วยเมตตา ให้กำลังใจ ให้แรงบันดาลใจทั้งหมด
ภพชาติต่อไปจะพูดอะไรใคร ๆ ก็ฟัง ใคร ๆ ก็เชื่อถือ เราชาววัดพระธรรมกายต้องทำหน้าที่ชาวพุทธที่ดี
จะเป็นต้นแบบให้กับชาวโลก ภาพที่เราส่งแชร์ไปในโลกออนไลน์ ภาพไม่ดีเราจะไม่ส่ง
เราจะส่งแต่ภาพดี ๆ เพราะภาพดี ๆ เพียงแค่หนึ่งภาพมันแทนคำพูดเป็นพันคำ
เราไม่ต้องไปสาธยาย คนที่มีปัญญาเขาเห็นเพียงภาพเดียวเขารู้เลย
ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในสายตาของชาวโลก
คนทั้งโลกระดมกันไปช่วยกันที่เชียงราย ไปถ้ำหลวง หน่วยซีล หน่วยทหาร ทุกคนเป็นแรงใจ
สุดท้ายเราก็ได้รับข่าวดีว่าพบตัวเขาแล้ว และกำลังจะเดินทางออกมาจากถ้ำ
สิ่งที่เราควรจะทำคือให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
ไม่ต้องไปค้นอดีตมาว่ากล่าวมันบั่นทอนกำลังใจกันเปล่า ๆ เราเองก็อยากมีกำลังใจไม่สิ้นสุด
และก็ไม่อยากให้ใครมาบั่นทอนกำลังใจเรา
ลูกศิษย์หลวงพ่อ ลูกศิษย์คุณยาย ลูกศิษย์วัดพระธรรมกายต้องช่วยกัน
ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ด้วยความปีติใจ มองสรรพสัตว์บนโลกนี้ให้เป็นมิตร
เป็นเพื่อน แล้วส่งภาพดี ๆ ออกไปให้ทุก ๆ คนได้เห็นว่า ภาพดี ๆ เกิดขึ้นแล้วในโลก
แล้วจะได้ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดแต่สิ่งที่ดี ๆ เป็นต้นบุญต้นแบบให้แก่ชาวโลก
ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ๆ เราส่งภาพดี ๆ ที่กัมพูชา คนอินเดียเขาปลื้มใจ มีเว็บเพจหนึ่งเอาภาพไปแปลเป็นภาษาอินเดีย
เขียนเป็นภาษาอังกฤษ แล้วเอาภาพการสร้างบุญของเราที่ประเทศกัมพูชาไปให้ ปรากฏว่า
ชาวพุทธอินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ
กล่าวคำว่า สาธุ ๆ
ภาษาของชาวพุทธมันใช้ได้ทั้งโลก คำว่าสาธุ คำเดียวมันแทนถ้อยคำทุก
ๆ ถ้อยคำทุกคนรู้และเข้าใจเป็นถ้อยคำที่ดี คำว่าสาธุเป็นคำกลาง ๆ
เพราะมาจากภาษาบาลี ภาษากัมพูชาเดิมได้รับอิทธิพลจากภาษาสันสกฤตซึ่งมาจากศาสนาพราหมณ์
- ฮินดูต่อมาได้อิทธิพลจากภาษาบาลีที่มาจากพระพุทธศาสนาเถรวาท
ในประเทศกัมพูชาคำศัพท์ในประเทศกัมพูชาที่ใช้ ถ้าใครพูดภาษาไทยได้
หรือคนที่เข้าใจภาษากัมพูชา ก็เข้าใจภาษาไทยได้ง่าย ๆ เพราะคำพูดหลาย ๆ
คำมาจากภาษาบาลี – สันสกฤต เช่นกัน
ถ้าทุกท่านมีโอกาสไปเที่ยวกัมพูชา
ที่เที่ยวที่สำคัญ นครวัด, อังกอร์วัด เสียมเรียบ
จ.ไพลินติดชายแดน จ.จันทบุรี แวะทานมังคุด ทุเรียน แล้วแวะไปทานลำไยที่ไพลิน ที่ไพลินมีสวนลำไยห่างจากชายแดนไป
15 กิโลเมตรก็ถึงวัดที่เราไปจัดบวชชื่อวัดกองกาง สร้างโดยชาวมอญ
ชาวพุทธเมื่อไปรวมตัวกันทำความดีทั้งโลกรวมทั้งชาวมอญจากเมียนมาร์เป็นผู้สร้างวัด
มีทั้งคณะสงฆ์จากประเทศกัมพูชา
และก็มีชาวไทยจากวัดพระธรรมกายของเราเข้าไปร่วมแรงร่วมใจแล้วก็มียอดวัดกัลยาณมิตรที่อยู่จันทบุรีเข้าไปช่วยเหลือ
ช่วยเป็นล่าม เป็นพี่เลี้ยงอุบาสิกา หลาย ๆ ท่านก็ได้ไปช่วยงานพระพุทธศาสนากัน
ในระหว่างที่หลวงพี่เข้าไปมีวัฒนธรรมอันหนึ่งซึ่งเราอาจจะไม่ค่อยคุ้นในประเทศไทย
คือวัฒนธรรมการกราบ การกราบเขาจะนั่งยอง ๆ
ภาษาเหนือเรียกว่านั่งจองเคาะ ภาษากัมพูชาใช้คำว่าจองเฮิง
เป็นการนั่งของพระภิกษุสามเณรเมื่อจะทำการไหว้ การกราบ
ถ้าเราไปในประเทศเมียนมาร์เราก็จะเห็นท่านั่งยอง ๆ
แบบนี้ ประเทศลาว ประเทศเมียนมาร์ ประเทศกัมพูชาก็นั่งยอง ๆ แบบนี้
ภาษาไทยเรียกว่านั่งกระโหย่ง แปลว่านั่งบนส้นเท้าแล้วเข่าติดพื้น ก็คือนั่งคุกเข่า
แต่บางตำราคำว่านั่งโหย่ง ๆ แปลว่านั่งยอง ๆ แต่ที่เป็นภาษาบาลีแปลว่านั่งคุกเข่า
การไปสอนวัฒนธรรมไทยการลุกนั่งกราบไหว้โดยที่เราไม่ศึกษาไปไม่ได้
การกราบของเราน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมาสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ได้มีพระราชบัญญัติให้เปลี่ยนวิธีการกราบของพระภิกษุสงฆ์
การกราบ ท่านั่งเทพบุตร เทพธิดา อย่างที่ชาวไทยเรากราบจะคล้ายกับการถวายบังคม
ทั้งหญิงและชายต้องนั่งคุกเข่าเรียกว่าคุกเข่าสูงทั้งคู่
สำหรับการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์แบบไทยจะนั่งคุกเข่าท่าเทพบุตร
และท่าเทพธิดา นั่งบนส้นเท้าเข่าติดพื้น แต่ถ้านั่งยอง ๆ
ก็คือนั่งบนส้นเท้าเหมือนกันแต่ว่าเข่าตั้งขึ้น
หลวงพี่ไปสอนที่กัมพูชา สอนอย่างไร โชคดีที่ประเทศกัมพูชามีการกราบทั้ง 2 แบบ
เราจึงต้องสอนทั้ง 2 อย่างเพื่อให้ท่านสามารถเรียนรู้ทั้ง 2 แบบ โชคดี
เราจัดงานบวช วัฒนธรรมเราคล้ายกันมาก
วิธีการกราบในสมัยพุทธกาล เราจะเอาหลักฐานอะไรไปให้เขาดู
เป็นหลักฐาน จึงศึกษาจากงานพุทธศิลป์
ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระพุทธศาสนา คือภาพวาดที่อยู่ในโบสถ์ ศิลาจารึก ใบเสมา
โบสถ์ ศาลา พระพุทธรูป เจดีย์ ประติมากรรม เรียกว่าพุทธศิลปะ
เป็นงานคู่เผยแผ่พระพุทธศาสนา
การที่ประเทศใดเจริญด้วยพุทธศิลปะ
หมายความว่าประเทศนั้นมีความรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาด้วย
งานพุทธศิลป์สะท้อนสภาพจิตใจ ความใส่ใจ ความละเอียดอ่อนของจิตใจ
แม้แต่สภาวธรรมการปฏิบัติธรรม
เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่ช่างศิลป์สลักภาพออกมาสร้างผลงานศิลปะที่ออกมา
ทั้งภาพจิตกรรมประติมากรรม ล้วนแล้วแต่เรียกว่าพุทธศิลป์ทั้งสิ้น
หลวงพี่จึงต้องไปค้นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุด
เวลาพระภิกษุทำการเคารพพระพุทธเจ้า
การแสดงความเคารพหรือการแสดงการบูชาเป็นพื้นฐานของชาวพุทธ ผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ ถ้าได้ศึกษามาแล้วทางปริยัติ คุณสมบัติ 2 ข้อแรกของสัมมาทิฏฐิคือ
เชื่อว่าทานมีผล การบูชามีผล ความเชื่อในเรื่อง
การบูชามีผลปรากฏในมงคลสูตร การบูชาบุคคลที่มีควรบูชาเป็นมงคลสูงสุด
การที่เราได้มีโอกาสมาบูชาพระมหาธรรมกายเจดีย์
เราตั้งจิตมาแต่ไกลต้องใจมาแต่บ้าน ตั้งใจมาเวียนประทักษิณ
มาบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การบูชาพระพุทธเจ้าโดยมีพระมหาธรรมกายเจดีย์มีพระพุทธเจ้าล้านพระองค์เป็นสื่อ
ความเชื่อว่าการบูชาพระรัตนตรัยมีผลเป็นสัมมาทิฏฐิ และถูกหลักวิชชา ตามมงคลสูตร
คือการบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นมงคลสูงสุด
ฉะนั้นใครจะมากล่าวหาว่า บูชาทำไม ไม่มีผลหรอก แสดงว่าไม่ได้ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า
ไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎก การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
เป็นการบูชาอันสูงสุด และเราก็รู้ว่าพระมหาธรรมกายเจดีย์เป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า
แม้นี้ก็เป็นพุทธศิลปะ ศิลปกรรมชั้นยอดของโลกอีกอันหนึ่ง ในยุคนี้ที่เกิดในยุคของเรา เวียนประทักษิณไป ใจนึกถึงองค์พระไป ทำให้ใจปลื้ม
นี่แหละสัมมาทิฏฐิของแท้ คือเชื่อของการบูชามีผล
เราไปเจอภาพศิลปะในปากีสถานในยุคศิลปะคันธาระ
อายุราวพุทธศตวรรษที่ 600 – 800 คือหลังพุทธปรินิพพาน 600 ปี
อยู่ในพิพิธภัณฑ์อังกฤษ เรียกว่าภาพจำหลักหินทราย
ในปัจจุบันนี้นักวิชาการยังไม่สามารถค้นพบ
ภาพนั่งยอง ๆ แต่ภาพการนั่งยอง ๆ
เป็นการนั่งแบบฤษี
ในการที่เราได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมกับชาติต่าง
ๆ เราต้องเข้าใจตัวเราเองอย่างถ่องแท้ให้ลึกซึ้งว่ารากเง้าต้นกำเนิดเดิมของเราซึ่งแม้เป็นชาวพุทธไทยก็ตาม
แต่เราก็รับพระพุทธศาสนามาจากประเทศอินเดีย
การที่เราได้มีโอกาสไปศึกษาพุทธประวัติ
แม้ว่าจะอยู่ในรูปของพุทธศิลปะงานพุทธศิลป์ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษา
เพราะฉะนั้นในยุคต่อไปแม้ของวัดพระธรรมกายเราเองงานเกี่ยวกับทางด้านพุทธศิลป์ซึ่งที่ทุกท่านไห้เห็นออกมาทีละนิดเป็นภาพของเทวดาภาพพุทธประวัติ
ทีมงาน 3D เอนิเมชันค่อยๆ
ผลิตออกมาด้วยความศรัทธาที่เต็มเปี่ยม กว่าจะค้นมาได้แต่ละภาพ
กว่าจะไปค้นพุทธศิลปะที่ใกล้เคียงกับยุคพุทธกาลมาทำภาพเผยแผ่ไม่ใช่เรื่องง่าย
ทุกคนต้องเอาใจใส่ ต้องฝึกฝนฝีมือ ต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้เกิดเป็นภาพดี
ๆให้เกิดขึ้นเพราะแค่ภาพเดียวตอบคำถามได้เป็นพันคำ
เราไม่ต้องพูดเลยว่าในสมัยพุทธกาลพระภิกษุสงฆ์ท่านไหว้
ท่านทำสักการะพระพุทธเจ้าด้วยท่าแบบใด เพราะฉะนั้นท่าที่เก่าแก่ ซึ่งเป็นบุญของพวกเราที่เราได้ฝึกหัดท่านี้มาในสมัยตั้งแต่ที่เราเกิด
ถือว่าเราชาวพุทธจะต้องศึกษาประวัติเดิม คือวัฒนธรรมของอินเดียเอาไว้
เพื่อการตอบคำถาม การอธิบายความรู้เมื่อเราต้องอธิบายให้กับพี่ ๆ น้อง ๆ
หรือแม้แต่การขยายความเรื่อง ต่าง ๆ
เหล่านี้ให้กับชาวต่างประเทศที่มาเยี่ยมชมวัดพระธรรมกาย มากันเป็นหมื่น ๆ คน
ได้ข่าวว่าเมื่อเดือนที่แล้วมีคณะนางงามจากประเทศนิวซีแลนด์
มาศึกษาวิธีการนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมที่วัดพระธรรมกายของเรา
เพราะฉะนั้นวิธีการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์เราสามารถอธิบายได้หรือไม่ว่า จริง
ๆแล้วการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์เก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏบนภาพพุทธศิลป์นั่งคุกเข่ากราบ
เป็นบุญของพวกเราที่ได้มาพบเจอพระพุทธศาสนาได้มาศึกษา
เมื่อเวลาเราไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้เราก็ไม่ต้องเอาความรู้ไปข่มเขา แต่เราต้องค่อย ๆ ศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน ค่อย ๆ
เรียนรู้ร่วมกัน เราไปเพื่อไปเปิดใจไม่ได้ไปปิดใจ ไม่ได้ไปปิดทาง
เราต้องเอาความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน แต่ไม่ได้ยัดเยียด ไปแลกเปลี่ยน
คุณสมบัติของผู้ที่จะไปทำหน้าที่นำแสงสว่างขยายต่อออกไปทั้งโลก
ต้องมีคุณสมบัติการยอมคน ที่คุณยายอาจารย์ ฯ ท่านให้คำสอนไว้ว่า
คุณยายสร้างวัดได้เพราะยายยอมคน เราจึงต้องรู้จักยอม
สิ่งสำคัญที่สุดเราต้องอาศัยปัญญาในการให้ความรู้กับเขาอย่างค่อยเป็น ค่อยไป วันนี้สมควรแก่เวลา ( เปิด MV ทบทวนบุญโครงการบรรพชาสามเณร จ.ไพลิน ประเทศกัมพูชา)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2561 พระครูสังฆรักษ์อน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น